วันที่ 28 ต.ค.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทําเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับเรื่องโครงการประกันรายได้เกษตรกร ระบุว่าขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไปแล้ว 3 ตัวจากที่เรามีทั้งหมด 5 ตัว และตามนโยบายรัฐบาล คือ ข้าว ยางพารา มันสัมปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติไปแล้ว 3 เรื่องคือ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังขาดข้าวกับยางพารา ซึ่งตนได้ลงนามเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ว่าขณะนี้ที่ยังไม่สามารถพิจารณาได้เพราะต้องรอความเห็นจากกระทรวงการคลัง เชื่อว่าใช้เวลาอีกไม่นานและคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้คือครม.สัญจรที่ภูเก็ต
"สำหรับยางพาราขณะนี้ดีขึ้นมาก ตรวจสอบราคาล่าสุดที่ตลาดกลาง วันนี้ราคายางแผ่นรมควันราคาก็ไปถึง 80 กว่าบาทแล้วและน้ำยางข้นก็แตะไปถึง 70 บาทแล้วซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ดีเกษตรกรก็น่าจะพอใจขึ้นและขณะเดียวกันสาเหตุก็เนื่องมาจากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นและความต้องการของตลาดรถยนต์ที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการยางรถยนต์มีความต้องการเพิ่มขึ้นรวมทั้งสถานการณ์โควิดที่ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางมากขึ้น เพราะฉะนั้นความต้องการใช้น้ำยางดิบไปผลิตก็มีมากขึ้นและที่สำคัญก็คือมาตรการที่ถูกต้องชัดเจนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาในการไปเปิดตลาดยางในประเทศต่างๆ และขณะนี้กำลังเร่งรัดการส่งมอบ และการทำสัญญาเพิ่มเติมก็ช่วยให้ความต้องการที่จะเข้ามาซื้อยางเพื่อส่งออกมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้หลายปัจจัยก็ช่วยกันทำให้ราคายางในประเทศดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าถึงเวลาหนึ่งเกิดราคาตกลงมารัฐบาลก็ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่จะเป็นตัวช่วยประกันรายได้ว่าอย่างน้อยยางแผ่นดิบก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท เป็นต้น " นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรปี2 ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 3 ชนิดคือการประกันรายได้ข้าวโพด ปาล์ม และมันสำปะหลัง แต่ยังค้างข้าวและยางพารา โดยข้าวนั้นคณะกรรมการ นบข.เห็นชอบ 18 มิ.ย. และ 17 ก.ค.63 จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลงนามเสนอคณะรัฐมนตรี 21 สิงหาคม 2563 วงเงิน 23,495 ล้านบาท ส่วนยางพารา บอร์ด กนย. เห็นชอบเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 จากนั้นนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อ 14 กันยายน 2563 วงเงิน 28,847 ล้านบาท ล่าสุดปรากฏว่ายังติดความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนการบรรจุวาระเข้าคณะรัฐมนตรี
พร้อมกับได้เร่งรัดทางกระทรวงคลังให้ส่งความเห็นทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามขั้นตอนและให้ทำความเดือดร้อนของเกษตรกร ชาวนา ชาวสวนยางพารา เนื่องจากโครงการนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลและเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ขณะเดียวกันก็ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการหรือบอร์ดมาแล้ว หากทาง กระทรวงคลัง ต้องการเจ้าหน้าที่ชี้แจงทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พร้อมชี้แจง