การส่งออกไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปของไทยในปี 2562 มีปริมาณ 9.54 แสนตัน มูลค่า 1.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ส่งออกได้ 8.92 แสนตัน มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท ทำให้ต้นปี 2563 สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยตั้งเป้าหมายปีนี้จะส่งออกได้ 9.80 แสนตัน มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันสถานการณ์กลับพลิกผันหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นและยังลากยาว ทำให้การส่งออกยังติดลบ
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกสินค้าไก่ของไทยช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 มีปริมาณ 6.18 แสนตัน ขยายตัวลดลง 0.9% และมีมูลค่า 7.22 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียว กันของก่อน ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น ส่งออกได้ 2.84 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.5%, ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) 1.79 แสนตัน ลดลง 17% , ตลาดจีน 7.2 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 97%, ตลาดเกาหลีใต้ 2 หมื่นตัน ลดลง 26% และตลาดมาเลเซีย ส่งออกได้ 1.3 หมื่นตัน ลดลง 5%
“ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบทำให้ตลาดญี่ปุ่น อียู เกาหลี และมาเลเซียขยายตัวลดลง ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้ได้ จากมีการล็อกดาวน์และคุมเข้มการเข้าออก ร้านอาหาร ภัตตาคารก็ปิดตัว และปัจจุบันก็ยังกลับมาเปิดได้ไม่เต็มร้อย กระทบการนำเข้าไก่เพื่อไว้รองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ขณะที่ญี่ปุ่นมีปัจจัยซ้ำเติมจากโควิด ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ได้ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารรวมถึงไก่เพื่อรองรับนักกีฬาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็ไม่มีในส่วนนี้ ยิ่งเวลานี้สถานการณ์โควิดในยุโรปทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันที่คุมไม่อยู่จนต้องประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบที่ 2 ยิ่งส่งผลให้ความต้องการนำเข้าไก่ลดลง”
ส่วนตลาดจีนที่ยังขยายตัวสูง ผลจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ยังระบาดในจีน ทำให้มีความต้องการสินค้าไก่ไปทดแทนหมูที่มีราคาสูงขึ้น แต่สินค้าไก่ที่ชาวจีนนิยม และต้องการส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนประเภทตีนไก่ และปีก ที่ไทยยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ และยังต้องแข่งขันกับสินค้าไก่จากบราซิลและจากสหรัฐฯที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก แต่ภาพรวมตลาดไก่ในจีนยังสดใสและมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี จากภาพรวมตลาดหลักคือญี่ปุ่น (สัดส่วน 45% ของภาพรวมส่งออกปี 2562) และตลาดอียู (ตลาดสัดส่วน 34%) และตลาดอื่นๆ ที่ขยายตัวลดลง (ยกเว้นตลาดจีน) ขณะที่ผลกระทบจากโควิดนอกจากทำให้คู่ค้านำเข้าลดลงแล้ว ยังมีผลถึงราคาสินค้าที่อ่อนตัวลง เช่น ตลาดอียูราคาไก่สด ณ เวลานี้เฉลี่ย 2,500-2,600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากช่วงต้นปีเคยขึ้นไปถึงระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และตลาดญี่ปุ่นเฉลี่ย 2,100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากต้นปี 2,500-2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และยังส่งผลถึงราคาไก่มีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ในประเทศปรับตัวลดลงด้วย
โดยปัจจุบัน (2 พ.ย. 63)ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์ม ตามราคาประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้ออยู่ที่ 32 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่ราคาจริงในบางพื้นที่เหลือเพียง 28-30 บาทต่อกก. ถือเป็นราคาที่เกษตรกรขาดทุน ดังนั้นหากในปี 2563 การส่งออกสินค้าไก่ของไทยสามารถทำได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ก็น่าจะพอใจแล้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับที่ 3624 วันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนโอลิมปิกฉุดส่งออกไก่ ตลาดในปท.ทรุดโควิดทุบกำลังซื้อ
ส่งออกไก่สดพุ่ง2เดือนเพิ่มขึ้น 58%