สรุป “RCEP” คือ? ไทยได้ประโยชน์อย่างไรกับข้อตกลงการค้าเสรีใหญ่สุดของโลก

15 พ.ย. 2563 | 10:35 น.

รู้จัก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค “RCEP” หรือ “อาร์เซ็ป” ข้อตกลงการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก คืออะไร ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับมีอะไรบ้าง ภาคเอกชน ภาครัฐ ต้องเตรียมตัว ปรับตัวอย่างไร

15 พฤศจิกายน 2563 ผู้นำ15 ประเทศได้ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ “อาร์เซ็ป” ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์หรัฐ ประมาณ 326 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯจีน ประกาศชัยชนะ 15 ประเทศลงนาม “RCEP”

จี้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

ปิดฉากเจรจายาวนาน 8 ปี ไทยร่วมลงนาม “อาร์เซ็ป”

“จุรินทร์”ย้ำ ไทยได้ประโยชน์จาก RCEP

15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

 

ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และเรื่องใหม่ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ความตกลง RCEP  มีทั้งหมด 20 บท 

 

1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป

 

2.การค้าสินค้า

 

3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า

 

4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

 

5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

 

6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง

 

7.การเยียวยาทางการค้า

 

8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ

 

9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา

 

10.การลงทุน

 

11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

 

12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

 

13.ทรัพย์สินทางปัญญา

 

14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

15.การแข่งขัน

 

16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

 

17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน

 

18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น

 

19.การระงับข้อพิพาท

 

20.บทบัญญัติสุดท้าย

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนามความตกลง RCEP คือ สามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ มีดังนี้

 

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

 

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

 

3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

 

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น

 

5.การค้าปลีก
 

สิ่งที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการที่จะเตรียมตัวและปรับตัว เพื่อให้เข้ากับข้อตกลงการค้าการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก RCEP คือ จะต้องเร่งศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพราะหลังจากลงนามวันนี้ แต่ละประเทศจะต้องนำไปให้สัตยาบันโดยผ่านกระบวนการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องผ่านที่ประชุมสภาฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในกลางปีหน้า โดยในการมีผลบังคับใช้จะต้องมีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศอื่น 3 ประเทศ แจ้งให้สัตยาบัน ความตกลงก็สามารถบังคับใช้ได้เลย