“RCEP จะเป็นแต้มต่อ แต่ไม่ใช่ว่า เราจะได้ประโยชน์โดยอัตโนมัติ ต้องศึกษากฏระเบียบท้องถิ่นในแต่ละประเทศ และต้องเร่งปรับตัวเพื่อแปลง RCEP ให้เป็นโอกาสในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น”
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ได้แสดงความเห็นต่อการเข้าร่วมความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP ของไทย ดังนี้
ความตกลง RCEP นับเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากจะมี 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมแล้ว ยังมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เข้าร่วม RCEP ด้วย ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก
การเข้าร่วม RCEP จะเป็นแรงผลักให้เกิดการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิกด้วย
ในยุคหลังโควิด-19 ประเทศในภูมิภาคนี้ จะหันมาค้าขายและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความตกลง RCEP จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายการผลิตที่จะกลายเป็นห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น
เมื่อมี RCEP ระหว่างกันแล้ว แต่ละประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่อกันและกัน เอื้อให้ผู้ประกอบการในแต่ละประเทศสมาชิกมีโอกาสได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า การลงทุน และภาคบริการจากเพื่อน RCEP ด้วยกัน ซึ่งถือว่า เป็นแต้มต่อ ที่สำคัญ โดยเฉพาะในการเปิดตลาดขนาดใหญ่อย่างจีน และญี่ปุ่น
การที่ห่วงโซ่มูลค่าในเอเชียจะเชื่อมโยงขยายตัว ผนวกเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ย่อมจะทำให้เกิดการขยายการส่งออก ขยายการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามมา ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่น่ายินดี
สำหรับสินค้าหรือบริการสาขาใดของไทยจะได้รับประโยชน์จาก RCEP ทางกระทรวงพาณิชย์ไทยได้มีการศึกษาวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม RCEP ในครั้งนี้ ได้แก่ การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนในประเทศคู่ค้าสำคัญของเรา และหมวดสินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้ประโยชน์นั้น มีทั้งหมวดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง ผลไม้อย่างสับปะรด และสินค้าประมง รวมทั้งหมวดอาหาร มีทั้งผักและผลไม้แปรรูปต่าง ๆ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำส้มและอาหารแปรรูปต่าง ๆ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายและจักรยานยนต์ และหมวดบริการก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์เช่นกัน ซึ่งรวมถึงหมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านบันเทิง และธุรกิจด้านค้าปลีก เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ คือ ตัวอย่างรายการที่มีการเจรจาตกลงกันไว้ในความตกลง RCEP
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าโอกาสจากการค้าขายจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หากแต่ทางภาคธุรกิจต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้ ต้องเร่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเหล่านี้ รวมทั้งควรเรียนรู้กฏระเบียบระดับท้องถิ่น เช่น การจะส่งออกไปตลาดจีน ยังมีกฎระเบียบในระดับมณฑลที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่ม RCEP สิ่งที่กล่าวมาถือเป็นโอกาสและแต้มต่อของผู้ประกอบการไทยในฐานะสมาชิก RCEP
ที่สำคัญ ภายหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตกถูกกระทบหนักมีการเติบโตติดลบ ดังนั้น การที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียหันมาค้าขายกันภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจาก RCEP ที่ได้ตกลงกัน จึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับประเทศสมาชิก RCEP
บรรดาประเทศสมาชิกควรเร่งหาหนทางในการใช้ประโยชน์จากผลสำเร็จครั้งนี้ พร้อมไปกับการปรับตัวด้วย จึงคาดหวังว่า ความตกลง RCEP จะมีส่วนช่วยให้การค้าขายและการลงทุนระหว่างกันได้ขยายตัวมากขึ้น ภูมิภาคเอเชียจะมีห่วงโซ่คุณค่าที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น