นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานถึงทิศทางธุรกิจค้าปลีกในตลาดอินเดียในช่วงเทศกาลและพิธีการต่างๆ จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ โดยได้แจ้งถึงโอกาสในการเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าในกลุ่มของหวาน ของใช้ในชีวิตประจำวัน ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับ เพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคชาวอินเดีย ที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลและพิธีการต่างๆ ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนต.ค.2563 และจะมียาวไปจนถึงเดือนธ.ค.2563 รวมถึงต้นปีที่มักจะมีพิธีการแต่งงานไปจนถึงสิ้นฤดูหนาวในเดือนมี.ค.2564
ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคชาวอินเดีย นิยมซื้อหาของขวัญให้แก่กันตั้งแต่เดือนก.ย.2563 โดยของที่มอบในโอกาสพิเศษอาจเป็นของนำเข้า อาทิ ขนม ผลไม้ และช็อกโกแลตนำเข้า โดยสินค้าไทยนอกจากผลไม้อบแห้งแล้ว ยังมีสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ คือ ขนมประเภทบิสกิต คุ้กกี้ ซึ่งคนอินเดียนิยมทานขนมที่มีความกรอบร่วมกับชานม (Chai) โดยผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย ควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและปรับสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกได้
ด้านน.ส.สุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ กล่าวว่า ยอดขายในเดือนเทศกาล ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. ของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีการซื้อหาของขวัญและจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในอินเดีย โดยอดขายในช่วงนี้จะมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 35% ของยอดขายตลอดทั้งปีของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 10% ของ GDP และ 8% ของการจ้างงานทั้งหมดในอินเดีย ดังนั้น ช่วงเวลาแห่งเทศกาลนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจอินเดีย
โดยจากข้อมูลพบว่าในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ผู้บริโภคเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้รัฐเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ได้เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่มีเทศกาลนวราตรี (17-25 ต.ค.) และวันดุชเซห์รา (25 ต.ค.) หรือที่เรียกว่า Navratri-Dussehra Period พบว่ามีสัญญาณบวกในการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการจัดซื้อ (Purchasing Manager Index) ก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในเดือนพ.ย. คือ สินค้าประเภทของหวาน โดยเฉพาะบิสกิต และคุ้กกี้ แบบไม่ใส่ไข่ ขนมแบบตุรกีผลไม้อบแห้งแบบต่างๆ และช็อคโกแลต รวมทั้งของขวัญแบบดั้งเดิมของอินเดีย ขณะที่เครื่องประดับ คาดว่าจะกลับมาขยายตัวก่อนเทศกาล Akshay Trithiya ในต้นเดือนก.พ.ของทุกปี
“ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปศึกษาสินค้าที่มีอยู่ในตลาดได้จากแพลตฟอร์มอออนไลน์ต่างๆ โดยนอกจากของหวานแล้ว ของขวัญที่นิยมให้กันอาจเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับ ในขณะที่บริษัท และหน่วยงานต่างๆ ก็มักเตรียมของขวัญให้กับลูกค้าเช่นกัน ซึ่งสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบในแง่ฝีมือและการออกแบบ คือ ผลิตภัณฑ์เซรามิค ของใช้บนโต๊ะอาหาร รูปตกแต่งบ้าน ตุ๊กตาผ้า รวมทั้งกระเป๋าถือและกระเป๋าใส่เงิน เป็นต้น หากศึกษาตลาดให้ดี ก็จะมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น” น.ส.สุพัตรา กล่าว