โควิดทุบส่งออกการ์เมนต์วูบ 1.2 หมื่นล้าน บีบบิ๊กเพลเยอร์ย้ายฐานเพิ่ม

27 ธ.ค. 2563 | 01:13 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2563 | 08:28 น.

โควิดพ่นพิษส่งออกการ์เมนต์ 11 เดือนปี 63 ลดลงกว่า 1.2 หมื่นล้าน ขณะตลาดออนไลน์ถูกสินค้านำเข้าแย่งตลาด สะเทือนอนาคตแรงงานกว่า 8 แสนคนแขวนบนเส้นด้าย นักวิชาการชี้บีบบิ๊กเพลเยอร์ย้ายฐานเพิ่ม

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยถึง การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) ของไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2563 ว่า มีมูลค่ารวม 60,132 ล้านบาท ลดลงหรือติดลบ 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ( 11 เดือนแรกปี 2562 ส่งออก 73,053 ล้านบาท หรือลดลง 12,921 ล้านบาท) โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่าส่งออก 22,081 ล้านบาท ลดลง 18.3%, ญี่ปุ่น 8,973 ล้านบาท ลดลง 18%, เบลเยียม 5,002 ล้านบาท ลดลง 5.1%, จีน 3,107 ล้านบาท ลดลง 9.2% และฮ่องกง 1,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

อาจารย์ภานุพงษ์ ศรีอุดมขจร และรศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขันคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มซึ่งเคยเป็นอุตสาหกรรมหลักในช่วงต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrialization) ของไทยวันนี้ลดความสำคัญลงทั้งทางด้านการผลิตและการส่งออก แต่ด้วยธรรมชาติที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจึงยังคงเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมที่มีมากกว่า 800,000 คน (ร้อยละ 16 ของภาคการผลิต) ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ข้อจำกัดการนำระบบการผลิตอัตโนมัติเข้ามาใช้ และความไม่ชัดเจนของความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19  ที่ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทยอยย้ายออก (Phase out) จากไทย

 

โควิดทุบส่งออกการ์เมนต์วูบ 1.2 หมื่นล้าน  บีบบิ๊กเพลเยอร์ย้ายฐานเพิ่ม

เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงและทำให้ความต้องการซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มลดลง โดยกลุ่มส่งออก (เช่น เสื้อผ้ากีฬา Outerwear ชุดชั้นใน) ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกคำสั่งซื้อ/เลื่อนคำสั่งซื้ออันเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในขณะที่กลุ่มที่จำหน่ายในประเทศได้รับผลกระทบผ่านภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและต้องเผชิญการแข่งขันจากตลาดออนไลน์ที่ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกกว่าและเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ

 

โควิดทุบส่งออกการ์เมนต์วูบ 1.2 หมื่นล้าน  บีบบิ๊กเพลเยอร์ย้ายฐานเพิ่ม

 

ดังนั้นผลกระทบของโควิดจึงเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่กำลัง phase out อยู่ให้เร็วขึ้น ผู้ผลิตขนาดใหญ่มีแนวโน้มการปรับตัวลดขนาดกิจการ (Downsizing) อย่างมีนัยสำคัญและปรับเปลี่ยนให้โรงงานของไทยทำหน้าที่เป็น Headquarter Office ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปผลิตในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน   ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กทยอยปิดตัวลงโดยเริ่มจากลดชั่วโมง/วันทำงานของพนักงานที่ทำให้แรงงานชั่วคราวโดยเฉพาะแรงงานต่างชาติออกจากงาน  รวมไปถึงปลดพนักงานประจำ

 

ผลกระทบต่อ Supply Chain มีจำกัดเพราะที่ผ่านมาพัฒนาการของอุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต้นน้ำ (เส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน และอื่น ๆ) ที่จำกัด โดยเฉพาะในผู้ผลิตเพื่อส่งออก กรณียกเว้น คือ กลุ่มเสื้อกีฬาและชุดชั้นในที่มี Supply Chain ในประเทศค่อนข้างยาวและเชื่อมโยงกับกลุ่มผ้าถักไปถึงกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์​  การ Downsizing จึงส่งผลกระทบต่อความต้องการวัตถุดิบต้นน้ำในกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

โอกาสหนึ่งท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม คือ การเติบโตของตลาดออนไลน์เสื้อผ้าที่ความต้องการมีลักษณะล็อตเล็ก ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการระยะสั้น  เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ Downsizing และการ Phase out แรงงานที่มีทักษะจากโรงงานขนาดใหญ่สามารถรวมกลุ่มให้เป็นผู้ผลิตรายย่อย (Micro Enterprises) หรือเรียกว่าเป็น Smart Garment เพื่อตักตวงโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติ  

อย่างไรก็แม้วิกฤติโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทางการแพทย์เพิ่มขึ้น เช่น ชุด PPE หน้ากากอนามัย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าปลอดเชื้อ  แต่อุปกรณ์ดังกล่าวไม่แตกต่างจากเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ที่ทุก ๆ ขั้นตอนการผลิตต้องผ่านมาตรฐานระหว่างประเทศ​ให้เป็นที่ยอมรับก่อนที่จะนำไปใช้งานจริง

 

ดังนั้นการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงเสมือนเป็นการเริ่มธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย  ทางเลือกดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุน การเรียนรู้และต้องเผชิญความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอาจไม่เป็นที่ยอมรับในตลาดโดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย (ความต้องการลดลงกลับมาสู่สภาวะปกติ)​ การดำเนินการที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศกำลังหาแนวทางการบริหารจัดการในช่วงล็อกดาวน์ หากต้องการตักตวงโอกาสดังกล่าวจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ และเป็นสิ่งที่ต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาวรองรับและมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดเตรียมความพร้อมในเรื่องการทดสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตอย่างเหมาะสม

 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสามารถเปลี่ยนผ่านโดยมีผลกระทบน้อยที่สุดพร้อม ๆ กับตักตวงโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติ ภาครัฐสามารถช่วยอำนวยความสะดวกการโยกย้ายแรงงานจากกลุ่มที่เลือกปิดตัว ไปยังกลุ่มที่ยังมีโอกาส และ/หรือ เดิมพึ่งพาแรงงานต่างชาติ การดำเนินการสามารถใช้เทคโนโลยี digital เข้ามาช่วยเพื่อลดปัญหา mismatching แรงงาน 

 

นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้การรวมตัวเพื่อพัฒนาเป็น Smart Garment Unit เพื่อแปลงวิกฤติ โควิด-19 ให้เป็นโอกาสที่มาจากการขยายตัวของตลาดออนไลน์และการจัดทำยุทธศาสตร์และกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าใหม่ ๆ ที่ชัดเจน เช่น กลุ่ม Recycle กลุ่ม Functional เช่น Anti-bacterial หรือกลุ่มเสื้อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย กั้นน้ำ เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นโดยเฉพาะ Testing ให้เหมาะสม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤติรอบ 60 ปี การ์เมนต์เผาจริง อนาคตนำเข้าแซงส่งออก

“ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์” ดิ้นสู้ส่งออกทรุด

6 คาถา“การ์เมนต์”อยู่รอด ยุคโควิด- New Normal ไล่ล่า

แบรนด์ดังสั่งผลิตเพิ่ม เบอร์ 1 ส่งซิก การ์เมนต์ไทยปี 64 ฟื้น