จากที่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา (DOC) ได้ประกาศผลการพิจารณาอัตราอากรการทุ่มตลาด(AD) สินค้ายางรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกขนาดเล็กจากไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งในเบื้องต้นในส่วนของประเทศไทยมีอัตรา AD อยู่ที่ 13.25-22.21% ของราคาซีไอเอฟ โดยบริษัท แอล แอล ไอ ที (ประเทศไทย) จำกัด(หรือ “หลิงหลง” แบรนด์ยางรถยนต์ชั้นนำจากจีน) มีอัตรา AD สูงสุดอยู่ที่ 22.21% และบริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์(ไทยแลนด์) จำกัด (แบรนด์ยางรถยนต์จากญี่ปุ่น) มีอัตรา AD ต่ำสุดที่ 13.25 % ส่วนผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ทั้งอินเตอร์แบรนด์ในไทย และแบรนด์ไทยมีอัตรา AD อยู่ที่ 16.66%
ทั้งนี้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความเห็น (Case Brief)ต่อผลการเจรจาดังกล่าวได้ภายใน 21 วัน และหากประสงค์ให้มีการเปิดรับฟังความเห็น (Hearing) สามารถยื่นคำขอต่อ DOC ได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ลงประกาศใน Federal Register ซึ่ง DOC มีกำหนดประกาศผลการพิจารณาอัตรา AD ชั้นที่สุดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USITC) มีกำหนดประกาศผลการพิจารณาด้านความเสียหายชั้นที่สุด ในวันที่28 มิถุนายน 2564 นั้น
นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเรียกเก็บภาษี AD ของสหรัฐฯจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ายางรถยนต์จากประเทศไทยไปสหรัฐฯอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากคือผู้ประกอบการแบรนด์ไทย รวมถึงผู้ประกอบการจากจีนที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้เรียกเก็บภาษี AD สินค้ายางรถยนต์จากประเทศจีน(อัตรา 87.99% ตั้งแต่ปี 2558) ทำให้หลายค่ายจากจีนย้ายฐานมาลงทุนในไทย ขณะที่ค่ายยางรถยนต์อินเตอร์แบรนด์จากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น หรือเอเชียอื่น ๆ ที่มาลงทุนในไทยคงไม่กระทบมาก เพราะมีฐานการผลิตในหลายภูมิภาคของโลกที่สามารถใช้ฐานในประเทศที่ไม่ถูกสหรัฐฯใช้มาตรการ AD ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯได้
“สหรัฐฯถือเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ใหญ่สุดของไทย เมื่อเราถูกเก็บภาษีเอดี ประเทศที่คาดว่าจะได้อานิสงส์คืออินโดนีเซีย และอินเดีย ที่เป็นอีกสองประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ที่ไม่ได้ถูกใช้มาตรการ AD ซึ่งต้องรอดูว่าผู้นำเข้าสหรัฐฯจะหันไปนำเข้าจากสองประเทศนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ และสองประเทศนี้เขาจะมีความสามารถส่งเข้าไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่เขาคงไม่สามารถรองรับตามความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมดเพราะยางรถยนต์มีหลายคุณภาพ หลายราคา คาดว่าส่วนหนึ่งคู่ค้าก็จะยังมาสั่งซื้อจากไทยและจีนอยู่ ต้องรอดูผลระยะยาว แต่กระทบเราแน่ ผู้ประกอบการคงต้องเร่งหาตลาดอื่นชดเชย”
อย่างไรก็ดีผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจากถูกเรียกเก็บภาษี AD ในครั้งนี้ มองว่าจะส่งผลกระทบทำให้ผู้ลงทุนผลิตยางรถยนต์รายใหม่ ๆ จากจีนคงไม่มาลงทุนในไทยเพิ่ม แต่อาจจะไปลงทุนในอินโดนีเซีย และอินเดียแทน
ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การประกาศผลอัตรา AD ยางรถยนต์จากไทยที่ 13.25-22.21% ถือเป็นอัตราที่ยังต่ำกว่าอีก 3 ประเทศที่เป็นคู่แข่งขันและถูกไต่สวน โดยสินค้าชนิดเดียวกันจากเวียดนามมีอัตราภาษี ADในเบื้องต้นที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บที่ 0-22.30% และมีภาษีจากการอุดหนุน(CVD)ที่จะถูกเรียกเก็บอีกที่ 22.27% ส่วนเกาหลีใต้ถูกเรียกเก็บภาษี AD ที่ 14.24-38.07% และไต้หวันถูกเรียกเก็บภาษี AD ที่ 52.42-98.44%
กีรติ รัชโน
“ก่อนที่สหรัฐจะประกาศอัตราภาษีเอดียางรถยนต์จากไทย ทางทีมไทยแลนด์ทั้งกรมการค้าต่างประเทศร่วมกับทนายความที่บริษัทเอกชนจ้างต่อสู้คดี รวมทั้งทูตพาณิชย์ได้ช่วยกันชี้แจงและส่งข้อมูลไปทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเพื่อแก้ต่าง รวมถึงได้คุยกับผู้นำเข้าเพื่อช่วยชี้แจง ผลสุดท้ายเราถูกเรียกเก็บภาษีเอดีหลักสิบเปอร์เซ็นต์ จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการยางรถยนต์ในสหรัฐฯเรียกร้องเก็บภาษี AD ไทยสูงถึง 217% เรื่องนี้แม้จะส่งผลกระทบผู้ส่งออกยางรถยนต์จากไทย แต่มองอีกมุมจากที่เราถูกเรียกเก็บภาษีต่ำกว่าอีก 3 ประเทศที่ถูกไต่สวน เราน่าจะยังพอแข่งขันได้”
หลังจากนี้ทางกรมการค้าต่างประเทศจะรวบรวมและส่งความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯไปให้ทาง DOC เพื่อใช้ประกอบและตัดสินใจก่อนประกาศผลการพิจารณาอัตรา AD ชั้นที่สุดในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ต่อไป
จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรในปี 2562 ไทยส่งออกยางยานพาหนะไปทั่วโลกมูลค่ารวม 178,747 ล้านบาท ในจำนวนนี้ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯมูลค่า 82,441 ล้านบาท, ออสเตรเลีย 7,155 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 6,619 ล้านบาท, มาเลเซีย 6,282 ล้านบาท และเกาหลีใต้ 5,221 ล้านบาท ส่วนปี 2563 (11 เดือนแรก)ส่งออกรวม 154,578 ล้านบาท ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ 77,957 ล้านบาท, ออสเตรเลีย 6,582 ล้านบาท,ญี่ปุ่น 6,038 ล้านบาท,เกาหลีใต้ 5,476 ล้านบาท และมาเลเซีย 5,015 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สหรัฐฯประกาศเอดียางรถยนต์จากไทย เรียกเก็บภาษี 13-22%
สหรัฐเล็งเก็บภาษี AD ยางรถยนต์นำเข้า จ่อเชือด 4 ประเทศ รวมทั้งไทย 29 ธ.ค.นี้
สหรัฐเล็งฟันภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ยางรถยนต์ไทย 217% รู้ผล 29 ธ.ค.