นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบสอง ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของมาตรการหลังจากเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ไปร่วมพิจารณากำหนดมาตรการ
อย่างไรก็ดีที่ประชุมครม.ได้ให้กระทรวงเกษตรฯไปเตรียมความพร้อมเรื่องฐานข้อมูลเกษตรกร ทั้งในกลุ่มพืช กลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มชาวสวนยาง กลุ่มหม่อนไหม และอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเบียนกลางของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติและข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งทางกระทรวงฯพร้อมที่จะดำเนินการตามมติ ครม.เรื่องการเยียวยาเกษตรกรในรอบสองทันที่ที่มีมติออกมา ซึ่งเป็นไปตามที่นายรัฐมนตรีได้สั่งการ
อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่จะออกมา จะเยียวยาในกลุ่มไหนบ้าง จำนวนงบประมาณ การเยียวยาต่อรายจะเป็นอย่างไรตรงนี้ต้องรอความชัดเจน จากปีที่ผ่านมาทางกระทรวงฯได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ รองรับ โดยในการเยียวยาเกษตรกรรอบแรกในปีที่แล้ว หลังครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบตามตามกรอบที่ทางกระทรวงเกษตรฯ เสนอให้การเยียวยาไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท จ่ายตรงผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)รายละ 15,000 บาท โดยจ่าย 3 เดือน ๆ ละ 5,000 บาท สามารถส่งข้อมูลทะเบียนให้กับทาง ธ.ก.ส.ทำการตรวจสอบความซ้ำซ้อนข้อมูลกับกลุ่มอื่น ๆ เช่นในโครงการเราไม่ทิ้งกันและจ่ายเงินได้ภายใน 5 วันทำการ
“ในรอบใหม่ใหม่นี้จะเป็นไปตามกรอบเยียวยา และวงเงินเดิมหรือไม่ทางกระทรวงเกษตรฯไม่ได้มีอำนาจ คงต้องรอมติครม.ใหม่ และรอว่ามาตรการที่จะออกมาว่าจะกำหนดกรอบวงเงินช่วยเหลือเยียวยาอย่างไรและกลุ่มใดบ้างที่จะได้รับ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนต้องรอผลการหารือของหน่วยงาน และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แต่ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งพร้อมดำเนินการทันทีหาก ครม.มีติให้การเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรในรอบใหม่”
ทั้งนี้หลักสำคัญคือต้องรอว่าทางรัฐบาลว่าจะมีมาตรการเยียวยาแบบทั่วไป หรือมาตรการเยียวยาเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในส่วนของกระทรวงเดิมก็มีมาตรการเยียวยาผลกระทบอยู่แล้ว จากผลกระทบโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจเช่น การจ้างงานประมาณ 1 แสนรายในภาคเกษตร ได้ดำเนินการแล้วในช่วงที่ผ่านมาในปีงบประมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และยังมีโครงการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,800 ล้านบาทเศษ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมไปถึงเรื่องการส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เน้นเรื่องมาตรการและกลไกส่งเสริมการตลาดให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งก็เป็นนโยบายหลักในปีนี้ของท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ รวมถึงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร สัดส่วนกว่า 80% ของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กสิทธิ์ “เยียวยาเกษตรกร” เตรียมรับเงินเยียวยาโควิด รอบ2
“เยียวยาเกษตรกร” ปิดจ๊อบ จ่าย 1.13 แสนล้านบาท