13 มกราคม 2564 กรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง จัดทำมาตรการ “เราชนะ” เพื่อเยียวยารอบ 2 บรรเทาผลกระทบให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือคนละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบความชัดเจนเกี่ยวกับผู้ที่จะได้รับสิทธิการช่วยเหลือจากมาตรการ “เราชนะ” นั้นรวมถึงเกษตรกรด้วยหรือไม่ หรือจะต้องรับสิทธิในโครงการเยียวยาเกษตรกรรอบ 2
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการเราชนะที่จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือคนละ 3,500 เป็นระยะเวลา 2 เดือน จะครอบคลุมเกษตรกรที่ได้รับสิทธิในโครงการเยียวยาเกษตรกรรอบที่ 1 ซึ่งมีเกษตรกรเกือบ 8 ล้านราย ที่เคยได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน มิ.ย - ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา
โดยการจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนทุกกลุ่มในครั้งนี้จะดำเนินการผ่านมาตรการเราชนะเท่านั้น จะไม่มีการจ่ายผ่านโครงการเยียวยาเกษตรกร เราไม่ทิ้งกัน เหมือนครั้งที่ผ่านมา กล่าวง่ายๆ คือ จะมีเราชนะเพียงมาตรการเดียว
คุณสมบัติเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33
ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบ เช็กสถานะเกษตรกร ในช่องทางต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม ระหว่างรอรับเงินช่วยเหลือ ในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเยียวยาเกษตรกรรอบ 2 ออกมา โดยสรุป ดังนี้
1. แอปพลิเคชัน "เกษตรดิจิทัล" หรือ Digital Farmer ทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดย Google Play คลิที่นี่ App Store - Apple คลิกที่นี่
2. เกษตรกรด้านพืช ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจสอบสถานะได้ที่นี่ คลิก
3. เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ขุ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ สามารถตรวจสอบสถานะได้ที่นี่ คลิก
4. เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย สามารถตรวจสอบสถานะได้ที่นี่ คลิก
5. เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง สามารถตรวจสอบสถานะได้ที่นี่ คลิก
วิธีตรวจสอบสถานะเกษตรกรใน 5 ช่องทางดังกล่าว เมื่อเข้าไปแล้วให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็จะทราบสถานะการขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เราชนะ" คลัง ตอบชัด กลุ่มไหนไม่ต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์เยียวยา 3,500 บาท