เตือน ห้ามกิน “หมึกสายวงน้ำเงิน” มีพิษถึงตาย

13 ม.ค. 2564 | 12:30 น.

มท. แจ้งข่าวถึง ผู้ว่าฯ  77 จังหวัด เตือนประชาชน ระวัง “หมึกสายวงน้ำเงิน” มีพิษร้ายแรงถึงตาย  "กรมประมง" ​ ย้ำอันตรายจริง สังเกตก่อนซื้อ

รายงานข่าวจากจังหวัดปัตตานี ว่าได้รับหนังสือ ด่วนที่สุด จากกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 มกราคม 2564 สาระสำคัญว่า กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับแจ้งจากประชาชนทางสื่ออนไลน์เฟซบุ๊กของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบหมึกสายที่คาดว่าเป็น “หมึกสายวงฟ้า” ขายปะปนอยู่กับหมึกสายอื่นๆ บริเวณตลาดนัดในเขตจังหวัดปทุมธานี

 

หนังสือสั่งการ กระทรวงมหาดไทย

 

 

เนื่องจากหมึกสายวงฟ้า เป็นหมึกที่มีพิษร้ายแรงเป็นอันตรายถึงชีวิต หากมีการบริโภคหรือสัมผัสส่วนที่เป็นพิษอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยลักษณะเด่นของหมึกสายดังกล่าว คือ มีวงสีฟ้า หรือน้ำเงินกระจายอยู่ทั่วตัว และบนหนวด ซึ่งแตกต่างจากหมึกสายชนิดอื่นๆ ทั่วไป

 

บัญชา สุขแก้ว

 

สอดคล้องกับ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง  กล่าวถึง “หมึกสายวงน้ำเงิน” หรือ “หมึกสายบลูริง” (Blue-ringed octopus: Hapalochlaena spp.) มีรายงานพบในประเทศไทยทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่พบในปริมาณที่ไม่มากนักจากการประมงอวนลากและลอบหมึกสาย เป็นหมึกสายที่มีขนาดเล็ก  ลักษณะลำตัวจะคล้ายถุงลมท้ายแหลมมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร จะมีลายวงแหวนชนิดเรืองแสงสีฟ้าจางๆ ขนาดเล็กกระจายอยู่บนลำตัวและส่วนหนวด ความยาวของหนวดจะมากกว่าความยาวลำตัว 1.5 – 2.5 เท่า อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเลที่เป็นทราย ในระดับความลึกประมาณ 20-40 เมตร

 

 

ชอบซ่อนพรางตัวเพื่อหลบเลี่ยงผู้ล่าและซุ่มรอเหยื่อ เวลาเคลื่อนที่จะใช้หนวดเดินโดยไม่มีการพ่นน้ำเพื่อพุ่งในการเคลื่อนที่ หมึกสายวงน้ำเงิน ไม่ใช่สัตว์น้ำที่ดุร้าย เมื่อโดนกระทบกระทั่งหมึกชนิดนี้ก็มักจะพรางตัวโดยการทำตัวให้แบน และเปลี่ยนสีให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่หากรู้สึกว่าถูกคุกคามจนรู้สึกไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะพรางตัว อย่างไรแล้วก็จะเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นการจู่โจมกัดพร้อมกับปล่อยพิษได้เสมอ หมึกชนิดนี้มีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต โดยเพศเมียจะวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกหมึกจะดำรงชีวิตตามหน้าดิน

นายบัญชา กล่าวอีกว่า "หมึกสายวงน้ำเงิน" เป็นสัตว์ที่มีพิษแรงมาก พิษของหมึกวงน้ำเงินเป็นพิษชนิดที่มีความรุนแรงมาก โดยพิษของมันจะถูกสร้างโดยแบคทีเรียกลุ่ม Bacillus และ Pseudomonas ที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland)ปากหนวด ลำไส้ รวมทั้งต่อมหมึก ประกอบด้วยสารพิษ 2 ชนิด คือ Maculotoxin (มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Tetrodotoxin ที่พบในปลาปักเป้า มีพิษต่อระบบประสาท) และ Hepalotoxin เป็นสารพิษชนิดร้ายแรงไม่มียาแก้พิษ ต้องบรรเทาอาการจากพิษเช่นเดียวกับการเอาพิษออกจากปลาปักเป้า

 

นั่นคือใช้เครื่องช่วยหายใจและรักษาตามอาการ หากพ้น 24 ชม.ได้อาการจะดีขึ้นตามลำดับ พิษของหมึกชนิดนี้ เกิดจากผลผลิตของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมัน ซึ่งสามารถส่งต่อผ่านจากแม่ไปยังลูกๆ ของมันได้อีกด้วย พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาท เมื่อถูกปลาหมึกสายวงน้ำเงินกัด ขั้นแรก จะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน ขั้นต่อมาจะทำให้มองไม่เห็นและประสาทสัมผัสก็จะไม่ทำงาน ไม่สามารถจะพูดหรือกลืนน้ำลายได้ และขั้นสุดท้ายประมาณ 10 นาทีต่อมา ก็จะเป็นอัมพาตและหยุดหายใจได้

 

เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ดังนั้นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจในระหว่างที่ระบบประสาทยังสามารถทำงานได้ปกติ  กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าหมึกสายชนิดนี้ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2547 โดยมีประกาศครอบคลุมถึงหอยงวงช้างและปลาหมึกทุกชนิดใน Class Cephalophoda

“หมึกสายวงน้ำเงิน” หรือ “หมึกสายบลูริง”

 

ดังนั้นโอกาสได้ไปสัมผัสกับเจ้าหมึกชนิดนี้มีไม่มากนัก โดยปกติ "หมึกสายวงน้ำเงิน" หรือหมึกสายอื่นๆ จะไม่สามารถจับได้โดยการตกเหมือนหมึกกล้วย แต่อาจจะจับได้โดยการใช้เครื่องมืออวนลาก หรือลอบหมึกสาย ซึ่งชาวประมงที่จับหมึกด้วยวิธีดังกล่าวมีความระมัดระวังหมึกชนิดดังกล่าวเป็นพิเศษอยู่แล้ว 

 

สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูลผู้ถูก "หมึกสาย" ชนิดนี้กัดและถึงแก่ชีวิตแต่อย่างใด ​สุดท้ายนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภครวมถึงพ่อค้า แม่ค้า  จึงขอเตือนให้ทุกท่านเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อหมึกที่มีลักษณะเหมือนหมึกสายมารับประทาน โดยให้สังเกตลักษณะภายนอกของหมึกก่อนที่จะเลือกซื้ออย่างละเอียด หากพบหมึกมีลายวงกลมในเนื้อหมึกไม่ว่าจะสีอะไรก็ตามทั้งสดและตากแห้งขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสและห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

"เงินประกันรายได้ยางพารา” ธ.ก.ส. นัดโอน 16 ม.ค. รวบยอดให้ 2 เดือน

เช็กด่วน “เยียวยาเกษตรกรรอบ 2" “กรมปศุสัตว์” เผยมี เกษตรกร รายใหม่ เพิ่ม 1.6 แสนราย

เช็กสิทธิ์ “เยียวยาเกษตรกร” เตรียมรับเงินเยียวยาโควิด รอบ2