อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) เป็นสองอุตสาหกรรมสร้างชาติและเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยยุคบุกเบิกช่วง 30-40 ปีก่อน โดยปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิดระบาด ประเทศไทยมีโรงงานสิ่งทอและการ์เมนต์ที่จดทะเบียนกว่า 3,200 โรงงานทั่วประเทศ มีคนงานและพนักงานที่เกี่ยวข้องกว่า 4 แสนคน มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 4.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกกว่า 2.9 แสนล้านบาท
สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนต์ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิดครั้งรุนแรงมากสุดในประวัติศาสตร์ จากทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด เศรษฐกิจการค้าโลกหดตัว คู่ค้าลดคำสั่งซื้อ ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมต้องลดกำลังผลิต ลดเวลาทำงาน ส่วนหนึ่งปรับตัวหันไปผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการยุค New Normal เช่น หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ชุด PPE และอื่น ๆ เพื่อประคองธุรกิจรอกลับมาฟื้นตัว
สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ระบุช่วง 11 เดือนแรกปี 2563 ไทยมีการส่งออกสิ่งทอมูลค่า 162,292 ล้านบาท ลดลง 18% ส่วนเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 60,132 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผลกระทบโควิดที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2563 ช่วงไตรมาสแรกตัวเลขการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ไม่ต่างกันมาก แต่มาได้รับผลกระทบทำให้ตัวเลขส่งออกช่วงไตรมาสที่ 2 ลดลงไปมากในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาดรุนแรงทั่วโลก และไตรมาส 3- 4 ค่อยฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ดีเท่ากับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ไม่มีสถานการณ์โควิด
“คาดการส่งออกการ์เมนต์ทั้งปี 2563 จะติดลบประมาณ 15% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยในส่วนของการส่งออกสิ่งทอและการ์เมนต์ในปี 2563 คาดตัวเลขจะหายไปรวมกันประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสิ่งทอหายไป 2.5 หมื่นล้านบาท และการ์เมนต์หายไป 1.5 หมื่นล้านบาท โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมามีโรงงานการ์เมนต์ขนาดเล็ก ๆ เช่น แถวบางบอน บางขุนเทียนที่ส่วนหนึ่งใช้แรงงานต่างด้าวปิดตัวลงไปบ้าง ส่วนโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปิด แต่มีการดาวน์ไซส์ธุรกิจ และปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่ออยู่รอด”
สำหรับทิศทางแนวโน้มอุตสาหกรรมการ์เมนต์ ปี 2564 คาดคำสั่งซื้อไตรมาสแรก เทียบไตรมาสเดียวกันของปี 2563 คงไม่ต่างกันมาก หรืออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เชื่อว่าในไตรมาสที่ 2 ปีนี้เทียบไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วจะปรับตัวดีขึ้น แต่คงยังดีไม่เท่าปี 2562 ที่สถานการณ์ตลาดเป็นปกติ ส่วนในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้คาดคำสั่งซื้อจะกลับมาเพิ่มมาก จากทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งจะทำให้มีธุรกรรมทางธุรกิจ/เศรษฐกิจ และการเดินทางระหว่างกันได้มากขึ้น จะมีผลต่อคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้นอกจากตัวแปรคือวัคซีนแล้ว เงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่า ตู้สินค้าที่ขาดแคลน และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา แต่หากมีข่าวดีไทยสามารถเปิดเจรจาเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร(อังกฤษ)ได้ ก็จะช่วยให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
“ปี 2564 คาดการณ์ส่งออกการ์เมนต์น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้จากปี 2563 ที่ 5% ถึง 8% แต่เทียบกับปี 2562 ที่เป็นปีที่ฐานตลาดปกติก็อาจจะยังติดลบ 5% ถึง 8%”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตรวจแถวส่งออก Q4 “ข้าว-สิ่งทอ” ร่วง “ยาง-มัน”ยอดพุ่ง
ส.พัฒนาอุตฯสิ่งทอชี้โรงงานจ่อปิดกิจการกว่า 100 โรงงาน
ยักษ์สิ่งทอฮ่องกง ปิดกิจการ 50 ปีในมาเลย์
สิ่งทอโอดโควิด ทุบออร์เดอร์จ่อปิดโรงงาน50%