ผู้ตรวจการแผ่นดินเยี่ยม รง.ซีพี ผลิต-แจกจ่ายแล้วกว่า 11 ล้านชิ้น

19 ม.ค. 2564 | 11:55 น.

รง.หน้ากากอนามัยซีพี เปิดบ้านต้อนรับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยจนถึงสิ้นปี 2563 แจกจ่ายหน้ากากอนามัยแก่โรงพยาบาล องค์กรการกุศล และ มูลนิธิทั่วประเทศไทยแล้วกว่า 1,000 แห่ง รวมกว่า 11 ล้านชิ้น ย้ำหน้ากากขายในเซเว่นฯไม่เกี่ยวกับซีพี

 

ช่วงมกราคม 2563 การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดความวิตกของสังคม จากการแพร่ระบาด และการสวมใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ โดยในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ และมีนาคม ประเทศไทยประสบปัญหาหน้ากากอนามัยในประเทศขาดแคลนอย่างหนัก รวมถึงวัตถุดิบในการผลิต เช่น วัสดุกรองชั้นในเมลต์โบลน(Melt-blown) มีราคาสูงขึ้นไปหลายสิบเท่า  โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยตามข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เพียง 9 โรงงานทั่วประเทศทำให้ไม่เพียงพอ เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น ทุกประเทศในโลกก็มีปัญหาคล้ายกัน คือมีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาดอย่างรุนแรง

 

ต่อมาวันที่ 5  มีนาคม 2563  นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)ได้มีเจตนารมณ์ ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาวิกฤติขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยซีพีสร้างโรงงาน และทำหน้าที่ผลิตหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตามคำสั่งการผลิตจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ เพราะการจะรู้ว่า บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนเท่าใดนั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯจะทราบความต้องการมากกว่าเครือฯ ดังนั้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯจะเป็นผู้กำหนดจำนวนการผลิต เพื่อแจกจ่ายฟรีให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ขาดโอกาสการเข้าถึง และนำไปส่งยังโรงพยาบาลกว่า 1,000 แห่งในช่วงวิกฤติขาดแคลนหน้ากากอนามัย ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยบรรเทาลงไปมาก  โดยก้าวต่อไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีเจตนารมย์ให้โรงงานหน้ากากอนามัยเป็นธุรกิจเพื่อสังคม  ซึ่งเครือซีพีได้ขานรับนโยบายและโดยทุกปี โรงงานหน้ากากอนามัยจะยกกำไรทั้งหมดให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  เพื่อสร้างประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้กับประเทศชาติ และคนไทยอย่างยั่งยืน

 

 

ผู้ตรวจการแผ่นดินเยี่ยม รง.ซีพี ผลิต-แจกจ่ายแล้วกว่า 11 ล้านชิ้น

 

ล่าสุดวันที่  19 มกราคม 2564  คณะผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำโดยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยของบริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคมในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563

 

ทั้งนี้ภายหลังการเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กล่าวว่า ขอชื่นชมซีพีที่เข้ามาสร้างโรงงานเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในช่วงที่ประเทศไทยมีวิกฤติโควิด-19 รุนแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ แต่สามารถเร่งดำเนินการจนสร้างโรงงานเสร็จใน 5 สัปดาห์ เพื่อเร่งผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงมาช่วยสนับสนุนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ขณะนั้นกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศขาดแคลน ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป้าหมายซีพีทำเพื่อการแพทย์ และทำเพื่อสาธารณะ โดยมีการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปัจจุบันจนสถานการณ์หน้ากากอนามัยขณะนี้ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ยังพบว่าหน้ากากอนามัยของซีพีที่ผลิตโดยบริษัทซีพี โซเชียล อิมแพคท์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายเกินราคาในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น  ทั้งนี้เพราะผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของซีพีส่งมอบให้โรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทยแจกจ่าย

 

ผู้ตรวจการแผ่นดินเยี่ยม รง.ซีพี ผลิต-แจกจ่ายแล้วกว่า 11 ล้านชิ้น

 

นายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี  เปิดเผยว่า ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี   ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดวิกฤติขาดแคลนหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เร่งสร้างโรงงานเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะเป็นผู้กำหนด ผู้รับ และสถานที่ รวมถึงความต้องการในการแจกจ่าย ตามความต้องการ เพื่อแจกฟรีให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนประชาชนกลุ่มผู้เปราะบางตามเจตนารมย์ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  โดยโรงงานหน้ากากอนามัยตั้งอยู่ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ  ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท สร้างเสร็จภายใน 5 สัปดาห์ ผลิตและแจกจ่ายตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2563 เป็นต้นมา โดยบริจาคหน้ากากที่ผลิตให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้พิจารณาและนำไปแจกจ่ายฟรีแก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนประชาชนกลุ่มผู้เปราะบาง

 

โดยจนถึงสิ้นปี 2563 ได้ผลิตและแจกจ่ายไปแล้วกว่า 11 ล้านชิ้นมอบให้แก่โรงพยาบาล  องค์กรการกุศล และ มูลนิธิ ทั่วประเทศไทยกว่า 1,000 แห่ง สมดังความตั้งใจของเครือเจริญโภคภัณฑ์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ต้องการบริจาคหน้ากากอนามัยเพื่อสาธารณกุศลในช่วงที่เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย จนถึงปัจจุบันสถานการณ์หน้ากากอนามัยกลับสู่ภาวะปกติ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้อย่างทั่วถึง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภารกิจของภาครัฐในการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหน้าด่านในการต่อสู้กับโควิด-19  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เซเว่น อีเลฟเว่น แจงกรณี"หน้ากากอนามัย"ราคาเกิน 2.50 บาท

กลุ่มซีพีมอบหน้ากากอนามัยและกุ้งหนุนรัฐสู้ติดเชื้อโควิด-19

“จุรินทร์”ถก แพลตฟอร์มออนไลน์ คุมเข้มขายหน้ากากอนามัย

ร้องเรียนสายด่วนปี63พุ่ง หน้ากากอนามัย-คนละครึ่งฮอต