โควิด ระลอกใหม่ ท่องเที่ยววิกฤติ หลายธุรกิจ ยังเดินได้ 

29 ม.ค. 2564 | 09:00 น.

โควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย แม้กระจายเป็นวงกว้าง และเร็วกว่าการระบาดรอบแรก แต่ด้วยความรุนแรงของโรคที่น้อยกว่า และพัฒนาการของวัคซีนมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่า ประกอบกับภาคการส่งออกสินค้า ที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบก่อน ยกเว้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ที่ถูกซ้ำเติมให้แย่ขึ้นไปอีก

 

รีเทล-ภาคการผลิตกระทบน้อย

 

แม้ 28 จังหวัด ในพื้นที่สีแดง จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 ระลอกใหม่ จะมีสัดส่วนถึง 3 ใน 4 ของกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 75% แต่ด้วยมาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่า เช่น ไม่ปิดห้างสรรพสินค้า ทานอาหารที่ร้านได้ ยังเดินทางข้ามจังหวัดได้หากจำเป็น ไม่ใช่ล็อกดาวน์ครอบคลุมทั้งประเทศเหมือนระลอกแรก ก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังพอเดินได้อยู่

 

แต่ผลกระทบและการฟื้นตัวในระยะต่อไป ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละเซ็กเตอร์ ทั้งนี้จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่สรุปจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4-7 ม.ค.64 พบว่า “ธุรกิจรีเทล” กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดระลอกแรก และถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดระลอกใหม่

 

ส่วน“ธุรกิจบริการ” ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ โรงแรม ร้านอาหาร และขนส่งผู้โดยสาร ขณะที่การขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบเล็กน้อย โดยผู้ประกอบการทั้งรีเทลและท่องเที่ยวยังไม่เลิกจ้างพนักงาน แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน ผู้ประกอบการบางรายโดยเฉพาะรายย่อย ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากคราวก่อน จะมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และหากยืดเยื้อก็จะส่งผลต่อการจ้างงาน

แนวโน้มการเติบโตการท่องเที่ยวของประเทศไทย

 

ด้าน “ภาคอุตสาหกรรมการผลิต” พบว่ายอดคำสั่งซื้อและกระบวนการผลิตดำเนินการได้ตามปกติ มีผลกระทบเฉพาะโรงงานที่มีแรงงานติดเชื้อซึ่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ส่วน “ภาคอสังหาริมทรัพย์” ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีความกังวลใจต่อความลำบากในการเข้าเยี่ยมชมโครงการและการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการใน 2 กลุ่มนี้ยังไม่เลิกจ้างพนักงาน ผู้ประกอบการหลายธุรกิจกังวลต่อการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูง

 

ขณะที่ในแง่สถานะของรายได้ของกลุ่มธุรกิจต่างๆในช่วงการระบาดรอบใหม่ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเป็นธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ธุรกิจที่มีรายได้ลดลงมาก จะแยกได้เป็น 2 ด้าน ได้แก่

 

1. รายได้ลดลงชั่วคราว คาดว่าฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการแต่ฐานะการเงินแตกต่างกัน คือ การค้า, ร้านอาหาร,ผลิตอาหารและพื้นที่ค้าปลีก

 

2. แย่อยู่แล้ว และแม้ผ่อนคลายมาตรการก็จะยังฟื้นตัวช้าจนกว่าจะมีวัคซีนและเปิดประเทศ แต่ยังมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในตลาด คือ ธุรกิจคอนโดฯในพื้นที่โอเวอร์ซัพพลาย เช่นเดียวกับธุรกิจที่พักแรม/โรงแรม และการขนส่งผู้โดยสาร

 

โรงแรมจ่อตกงาน 1 แสนคน

 

สำหรับแรงงานในพื้นที่สีแดง คาดว่าจะมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบราว 4.7 ล้านคน โดยประมาณ 1.1 ล้านคน อาจกลายเป็นผู้เสมือนว่าแรงงาน (ผู้มีงานทำที่มีชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และเสี่ยงตกงานอีก 1 แสนคน โดยเฉพาะลูกจ้างในกลุ่มธุรกิจโรงแรม จะมีความเสี่ยงในการตกงานเพิ่มขึ้นราว 1 แสนคน

 

เนื่องจากในปี 63 การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ส่งผลให้รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากที่ควรจะอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ที่ราว 8.12 แสนล้านบาทเท่านั้น จากจำนวน
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป

 

ส่งผลให้ตลอดปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมอยู่ในภาวะวิกฤติ (เลวร้ายสุด) คือการดำเนินธุรกิจที่ขาดทุนต่อเนื่องมาร่วม1ปีแล้ว จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมในภาพรวมทั้งประเทศที่เดิมอยู่ 68.95% เหลืออยู่ที่ 27.87% และการขายราคาห้องพักเฉลี่ยที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีราคาห้องพักเฉลี่ยต่ำสุดที่ไม่เท่ากัน แต่เฉลี่ยโดยรวมทั้งประเทศ ราคาห้องพักเฉลี่ยต่ำที่สุดอยู่ที่1,932.58 บาทต่อคืน เหลืออยู่ที่ 781 บาทต่อคืน (กราฟฟิกประกอบ) แต่ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ก็เพื่อให้มีเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานเท่านั้น

 

 

ปี 65 ต่างชาติขยับ 50% 

 

ดังนั้นการมาเจอโควิดระลอกใหม่ ที่พอเริ่มต้นปี 64 ก็เกิดการชะงักงันด้านท่องเที่ยว ประกอบกับแนวโน้มการท่องเที่ยวในช่วง 2 ปีจากนี้ที่ยังกลับมายังไม่เท่ากับปี 62 โดยในปี 64 ททท.ตั้งเป้าที่จะดึงต่างชาติมาเที่ยวไทย 10 ล้านคน และในปี 65 รัฐบาลอยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา 50% ของปี 62 คืออยู่ที่ 20.8 ล้านคน จากปี 62 ซึ่งอยู่ที่ 39.92 ล้านคน

 

จึงมีแนวโน้มสูงว่าธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว หากรัฐบาลยังไม่ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในปีนี้ก็คงต้องปิดกิจการอีกหลายราย โดยเฉพาะธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี และการตกงานของคนในภาคนี้ก็จะเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดจากธุรกิจโรงแรม ที่ในกลุ่มระดับ 3 ดาวจะกระทบมาก จากโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ที่ลดราคาลงมาชิงตลาดที่มีอยู่จำกัด ซึ่งปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ที่ 9.3 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นระดับเอสเอ็มอี

 

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจแนวทางการช่วยเหลือ ที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องการจากภาครัฐ พบว่าอันดับ 1 ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องการ คือ มาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างพนักงานในแบบโค-เพย์ 50% โดยรัฐบาล การลดค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำ อันดับ2 ขอพักชำระหนี้ เป็นเวลา 19-24 เดือน อันดับ3 ขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและอันดับ 4 เป็นมาตรการซอฟต์โลน ซึ่งการที่ผู้ประกอบการมีความต้องการซอฟต์โลนเป็นอันดับท้ายๆ เพราะไม่อยากเป็นหนี้เพิ่ม 

 

ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ชลบุรี" สั่งปิดโรงแรม-สถานที่ท่องเที่ยวสกัดเชื้อโควิด

ชลบุรียอดติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ ทำไมต้องสั่งปิดโรงแรม

ต้องถึงขั้นนี้แล้ว 2 โรงแรมหรูพัทยา ขาย "ปาท่องโก๋" จ่ายเงินเดือนพนักงาน

ปิดกิจการ อวสาน "พัทยา" เราไม่ทิ้งกัน ทำไมทิ้งเรา (คลิป)

ไปต่อไม่ไหว โรงแรมหรู 18 แหล่งท่องเที่ยวในพัทยา ทยอยปิดชั่วคราว