“ม็อบประมง” คืนชีพปลุกระดมผ่านโซเซียล

26 ม.ค. 2564 | 14:55 น.

"ประมง" 22 จังหวัด เดือด  นัดปลุกระดมผ่านโซเซียล บุกทำเนียบต้นเดือน ก.พ. ทวงถาม “วันทำประมง” ไม่คืบ หลังเรือจอดเพียบกว่า 100 ลำ แต่รัฐยังเพิกเฉย

 

มงคล สุขเจริญคณา

 

นายมงคล  สุขเจริญคณา  นายกสมาคมประมงสมุทรสงครามและ นายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว  ยังส่งผลกระทบกับการประกอบอาชีพของชาวประมงโดยตรง  รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากกฎหมายประมง  และกฎหมายแรงงาน  ที่ทำให้พี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล  ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรกลุ่มอาชีพ SME อาชีพหนึ่ง  ที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก จนอาจไม่สามารถประกอบอาชีพประมงต่อไปได้  เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น  ในขณะที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย  

 

โดยผลกระทบนี้เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการที่กรมประมง มีการกำหนดวันทำการประมงให้กับเรือประมงให้สามารถทำการประมงได้เพียง 240 วัน หรือเป็นเวลา 8 เดือน (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – วันที่ 31 มีนาคม)  ในขณะที่ชาวประมงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่ต้องจ่ายทั้ง 12 เดือน จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดทุนสะสม  เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อีกทั้งธนาคารก็ไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับชาวประมง  จึงส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องในอาชีพประมง

 

อนึ่ง จากปัญหาผลกระทบดังกล่าวข้างต้น  ภาครัฐสามารถแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด  แค่เพียงกำหนดนโยบายในการผ่อนผัน ยกเว้นการควบคุมวันทำการประมงของชาวประมงออกไปก่อน อย่างน้อย 2 ปี (ปี 2563-2564)

 

เรือจอด

 

นายมงคล กล่าวว่า ในนามสมาคมประมงสมุทรสงคราม  สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม  และสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด เป็นองค์กรประมงของจังหวัดสมุทรสงคราม  ซึ่งเป็นตัวแทนพี่น้องชาวประมงจังหวัดสมุทรสงคราม  ในการนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ไปยังภาครัฐ  เพื่อให้ได้รับการพิจารณาแก้ไขจนพี่น้องชาวประมงสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้น องค์กรประมงทั้ง 3 องค์กรในจังหวัดสมุทรสงคราม  ขอนำเสนอประเด็นปัญหา   พร้อมแนวทางแก้ไขมายังท่านได้โปรดพิจารณา และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล  ดังนี้

 

ประเด็นปัญหา 1.กรมประมงได้กำหนดวันทำการประมงให้กับชาวประมง เพียงปีละ 240  วัน (8 เดือน)  เท่านั้น  ในขณะที่ชาวประมงมีภาระค่าใช้จ่ายทั้งปี  (12 เดือน)  จึงทำให้ชาวประมงต้องประสบปัญหาการขาดทุนสะสม 2.กรณีเรือประมงต้องจอด  2-3  เดือน  เหตุผลเพราะวันทำการประมงหมด แรงงานในเรือประมงก็จะขึ้นฝั่ง  ซึ่งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19  และจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในภาพรวมของประเทศ    

 

สำหรับแนวทางแก้ไข ขอความอนุเคราะห์ท่านพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ  สั่งการให้มีการผ่อนผัน ยกเว้นการควบคุมวันทำการประมงของชาวประมง ออกไปก่อน อย่างน้อย 2 ปี (ปี 2563-2564)  ในช่วงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  เพื่อคลี่คลายปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล

 

หรือเพิ่มวันทำการประมงให้กับชาวประมงทุกปี ดังเช่นที่เคยดำเนินการให้กับชาวประมงมาก่อนหน้านั้นแล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลที่คาดว่าจะได้รับ ระบบเศรษฐกิจภาคประมงจะเกิดการหมุนเวียนในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท แรงงานไทยไม่ต้องตกงานในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ผู้ประกอบการประมง  สามารถประคองธุรกิจประมงต่อไปได้ และประเทศชาติได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการหมุนเวียนในอาชีพต่อเนื่องประมงทุกห่วงโซ่ธุรกิจ  ไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท

 

จากประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น  องค์กรประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ทั้ง 3 องค์กร  ใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านได้โปรดพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล  เพื่อให้อาชีพประมงของไทยมีความมั่นคงและยั่งยืนสืบไปด้วย  


 

 

นายมงคล กล่าวต่ออีกว่า ถ้าหากยังไม่ได้รับคำตอบ หรือ การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ได้มีการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงประมง 22 จังหวัด ผ่านทุกช่องทางโซเซียล คาดว่าในช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะนำสมาชิกชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามเรื่องดังกล่าวนี้ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“วันทำประมงหมด” ลามธุรกิจเจ๊ง 6 แสนล้าน ตกงานพุ่ง

ประมงนัด “เค้าท์ดาวน์” หน้าทำเนียบ ร้องวันทำประมงเพิ่ม-ควบรวมเรือ

11 พ.ย. นัดยื่นแก้ “กฎหมายประมง”

“ประมง” สั่งชะลอเดินเท้าบุกทำเนียบ (มีคลิป)