การออกประกาศของจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่มีมติสั่งปิดโรงแรมหรือสถานประกอบการในลักษณะคล้ายโรงแรม และปิดสถานที่ท่องเที่ยวทั้งของราชการ และเอกชน ในจังหวัดชลบุรีเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ของจังหวัดชลบุรี มียอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 6 วันแรก ตั้งแต่วันที่ 22-27 มกราคม2564
เบื้องหลักการออกประกาศปิดโรงแรมดังกล่าว เกิดขึ้นจากการเรียกร้องของ 8 องค์กรผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี, สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ,สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก, สมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี ,สมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก,ชมรมร้านอาหารเมืองพัทยา
โดยที่ผ่านมาทั้ง 8 องค์กรได้ทำหนังสือยื่นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี เพื่อเสนอขอให้สั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิ์ในการรับเงินชดเชยค่าแรง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในสถานประกอบการ เพื่อให้ชะลอการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดชลบุรี
เพราะการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการเอง โดยรัฐไม่มีคำสั่งจะพนักงานจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย ขณะที่ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถแบกรับค่าจ้างแรงงานพนักงานได้ เนื่องจากที่ผ่านมาพัทยามีนักท่องเที่ยวเป็น 0 นับจากเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก และก่อนหน้านี้ธุรกิจโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวในพัทยา มีการปิดกิจการไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคนที่ตกงานมีการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นจำนวนมาก
การเรียกร้องให้รัฐสั่งปิดโรงแรม จะทำให้พนักงานของธุรกิจโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว ได้รับเงินชดเชยการว่างจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) 50% ของฐานเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะได้รับการชดเชยไม่เกิน 90 วัน เช่น พนักงานมีเงินเดือน 15,000 บาท และอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา33 จะได้รับเงินเยียวยาที่ 7,500 บาทเป็นเวลา 2 เดือน
ทั้งนี้การจ่ายชดเชย เป็นไปตามการปรับใหม่ จากก่อนหน้านี้ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา จะจ่ายค่าชดเชย 62% แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบเป็นเวลา 2 เดือน
การออกประกาศสั่งปิดโรงแรมในจังหวัดชลบุรี ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงแรมต้องปิดกิจการชั่วคราว เพราะหากโรงแรมไหนต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยว ก็สามารถมาแจ้งนายอำเภอในท้องที่ภายใน 7 วัน (นับจากวันที่ 28 มกราคม2564)ได้ว่าไม่ต้องการปิดกิจการ
การเรียกร้องรัฐสั่งปิดโรงแรมในพื้นที่ ผู้ประกอบการได้เรียกร้องมาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว ซึ่งธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในจังหวัดชลุบรี จะอยู่ที่พัทยากว่า 80% มีโรงแรมในพัทยาที่ถูกกฏหมายและไม่ถูกกฏหมายรวมกว่า 2 แสนกว่าห้อง จากห้องพักจำนวนพันกว่าแห่ง (ไม่รวมอพาร์ทเม้นท์ คอนโด ที่เปิดขายรายวัน) จำนวนพนักงานในธุรกิจท่องเที่ยวในพัทยา อยู่ที่ราว 3 หมื่นคน
นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทย ภาคตะวันออก กล่าวว่า ทางผู้ประกอบการได้ร้องขอให้รัฐสั่งปิดกิจการโรงแรมมาเป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว การออกประกาศล่าสุดของจังหวัด แม้จะมาช้าก็ถือว่าดีกว่าไม่มา เพราะลูกจ้างก็จะได้รับค่าชดเชย สำหรับโรงแรมที่เดือนร้อนไม่มีลูกค้าและอยากจะปิดโรงแรม
“ประกาศดังกล่าวของจังหวัดชลบุรีที่ออกมา ก็ยังเปิดโอกาสให้โรงแรมที่ประสงค์จะเปิดกิจการ ยังดำเนินการต่อได้ ไม่ใช่ปิดทั้งหมด ซึ่งหลายโรงแรมก็กำลังพิจารณาว่าจะปิดกิจการหรือไม่ เนื่องจากกำลังรอดูสถานการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนพื้นที่การควบคุมการแพร่ระบาดในจังหวัดชลบุรี จากพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่สีส้ม หรือประเมินว่าจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวได้เร็วแค่ไหนด้วยเช่นกัน เนื่องจากธุรกิจหลักของเมืองพัทยา ก็คือการท่องเที่ยว และเชื่อว่าถ้าการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้ดี ควบคุมได้นักท่องเที่ยวก็จะกลับมา ”นายพิสูจน์ กล่าวทิ้งท้าย
โดยพัทยามีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 240,000 ล้านบาท หรือคืดเป็นกว่า 70% ของจีดีพีพื้นที่เมืองพัทยา
อย่างไรก็ตามจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จังหวัดแรกที่รัฐออกประกาศสั่งปิดโรงแรม คือจังหวัดกาญจนบุรี และเมื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ก็กลับมาเปิดให้บริการเหมือนเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่แม่กลอง จ. สมุทรสงคราม ก็พยายามเรียกร้องให้รัฐสั่งปิดกิจการโรงแรมเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากภาครัฐแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ชลบุรี" สั่งปิดโรงแรม-สถานที่ท่องเที่ยวสกัดเชื้อโควิด
ต้องถึงขั้นนี้แล้ว 2 โรงแรมหรูพัทยา ขาย "ปาท่องโก๋" จ่ายเงินเดือนพนักงาน
ปิดกิจการ อวสาน "พัทยา" เราไม่ทิ้งกัน ทำไมทิ้งเรา (คลิป)
ไปต่อไม่ไหว โรงแรมหรู 18 แหล่งท่องเที่ยวในพัทยา ทยอยปิดชั่วคราว
ซีพี ย้ายสถานีไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน พัทยาวุ่นรื้อแผนโมโนเรล