โดยปี 2563 ล่าสุด ส่งออกไทยสะเทือนจากพิษโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำตัวเลขส่งออกได้มูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากปีก่อน -6% ส่วนในรูปเงินบาทมีการส่งออก 7.17 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง -5.9% โดยปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย โดยในจำนวนนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ”จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยถึง ผู้ส่งออกรายใหญ่ใน 50 อันดับแรก พบสัดส่วน 80% เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่สัดส่วน 20% เป็นบริษัทคนไทย
โดยรายชื่อบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกที่มี่มูลค่าส่งออกสูงสุดตามลำดับ ประกอบด้วย 1.บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด (บจก.) 2.บจก.วาย แอล จี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล, 3.บจก.เอชจีเอสที (ประเทศไทย) 4.บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย 5.บจก.เอ็มทีเอสโกลด์ (หรือห้างทองแม่ทองสุก) 6.บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิปิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง, 7.บจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช, 8.บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย), 9.บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย), 10.บจก.เวสเทิร์น ดิติตอล (ประเทศไทย)
11.บจก.บริงค์ส (ประเทศไทย) 12. บจก.เอเชียนฮอนด้ามอเตอร์ 13.บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (บมจ.) 14.บจก.ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย), 15 บจก.เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย 16.บจก.นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) 17.บจก.ฟาบริเนท 18. บจก.ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ 19.บจก.โซนี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) 20.บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
21.บจก.อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) 22.บจก.ไทย ไลอ้อน เมนทารี 23.บจก.แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์ (ประเทศไทย) 24.บจก.ไมโครชิพ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) 25.บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) 26.บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) 27.บจก.ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) 28.บจก.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) 29.บจก.ยูแทคไทย 30.บจก.มิตซูบิชิ อีเลคทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย)
31.บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง 32.บมจ.การบินไทย 33.บจก.สยามมิชลิน 34.บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (สาขา 1) 35.บจก.บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) 36.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล 37.บจก.โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) 38.บจก.ค้าผลผลิตน้ำตาล 39.บจก.ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม 40.ราชการกองบัญชาการกองทัพไทย
41.บจก.แอลแอลไอที (ประเทศไทย) 42.บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) 43.บจก.สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น 44.บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม 45.บจก.ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง 46.บจก.เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลส์ 47. บจก.โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) 48.บจก.แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) 49.บจก.สแนชั่น (ไทยแลนด์) และ 50.บจก.แคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย)
ทั้งนี้ในภาพรวมปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้ที่มีมูลค่าส่งออกระดับแสนล้านบาทมีจำนวน 5 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 630,687 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.79% ของมูลค่าการส่งออกรวม ส่วนบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับหมื่นล้านบาท มีจำนวน 108 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39.47% บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับพันล้านบาทมีจำนวน 859 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31.85% มูลค่าการส่งออกระดับร้อยล้านบาทมีจำนวน 3,521 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.76% และมูลค่าการส่งออกระดับน้อยกว่าร้อยล้านบาท มีจำนวน 31,671 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 296,655 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.13% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม
จากข้อมูลแสดงให้เป็นว่าบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกสูง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยรวมถึงบริษัทส่งออกแถวหน้าของไทย ขณะที่บริษัทส่งออกของไทยโดยรวมมีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าร้อยล้านบาทเป็นส่วนใหญ่
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การที่บริษัทส่งออกในกลุ่ม 50 อันดับแรกที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศ หรือบริษัทข้ามชาติสะท้อนให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นฐานผลิตให้กับประเทศอื่น ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออกให้กับประเทศก็จริง แต่ถ้าพูดถึงเม็ดเงินที่ตกถึงคนไทยเองก็ไม่ได้มาก แต่ตัวเลขส่งออกส่วนใหญ่จะไปตกกับบริษัทแม่ต่างชาติเสียส่วนใหญ่ หากในอนาคตบริษัทแม่เหล่านี้พิจารณาลงทุนหรือขยายฐานการลงทุนในประเทศอื่นที่มีข้อได้เปรียบด้านต่าง ๆ ดีกว่าไทย การส่งออกที่เป็นของประเทศไทยหรือผู้ประกอบการไทยจริง ๆ จึงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วง
ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทต่างชาติแม้จะช่วยสร้างงานและสร้างเงินให้กับประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นในหลายประเด็น เช่น การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของบริษัทไทยยังใช้เทคโนโลยี หรือใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายังไม่มาก ทำให้มูลค่าการส่งออกยังไม่สูง, ในสินค้าเกษตร หรือเกษตรแปรรูป ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยี หรอนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามาก ส่วนใหญ่ยังส่งออกในรูปวัตถุดิบ หรือแปรรูปเล็กน้อย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ผิดกับ FDI ที่ไปลงทุนในจีนจะถูกบังคับเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ทำให้จีนมีการพัฒนาสินค้ารุดหน้าไปกว่าไทยมาก เป็นต้น
“สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งทำเพื่อผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.ประเมินตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรม 4.0 เพราะบางคนอาจจะยังอยู่ 1.0 2.0 หรือ 3.0 ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยมาก ซึ่งต้องเร่งปรับตัว 2.ปรับโครงสร้างการการผลิตให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) 3.บริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำสุดและประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด และ 4.รัฐบาลต้องประกาศตัวเองว่าจะผลักดันสินค้าใดของไทยบ้างให้เป็นสินค้าโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของโลก และมีแผนงานยุทธศาสตร์ในการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต่างชาติกุมส่งออก จี้ไทยปรับสมดุลลงทุน
ผู้ส่งออกเตรียมตัว จีนต้องการมันเส้นเพิ่ม