นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นปัญหากระทบไปทั่วโลก สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว โดยเรื่องที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้เปิดโอกาสเรือขนาด 400 เมตร ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ และมีสายการเดินเรืออยู่ประมาณ 6 สายการเดินเรือ เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือไม่ต้องอนุญาตโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน ได้หารือร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะอนุญาตให้เรือที่มีขนาดใหญ่ 400 เมตร สามารถเข้ามาเทียบท่าและรับสินค้าไทยเพื่อการส่งออกได้ โดยการขออนุญาตใช้เวลาแค่ 1 วัน และใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปี จะช่วยให้การส่งออกสินค้าสามารถขึ้นเรือใหญ่และไปสู่ประเทศปลายทางได้เลย จากที่จะต้องไปถ่ายลงเรือใหญ่ที่สิงคโปร์หรือท่าอื่นๆ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จากนี้จะเป็นการลดต้นทุนไปในตัว
ส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องส่งออกโดยการใช้ตู้ จะหลีกเลี่ยงการใช้ตู้ โดยจะใช้เรือที่ขนสินค้าส่งออกแทน เช่น ผลไม้ มะพร้าว พืชเกษตรชนิดอื่น และไม้ยางพารา เป็นต้น โดยมีการเตรียมเรือไว้จำนวนหนึ่ง จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.พ.2564 เพื่อลดการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ และจะส่งเสริมให้มีการนำให้เรือบรรทุกสินค้านำตู้เปล่าเข้ามา โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น ลดค่าธรรมเนียมนำเข้าตู้เปล่า ซึ่งการท่าเรือฯ จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยจะเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ คาดว่าจากเร็วที่สุดอาจเป็นวันที่ 9 ก.พ.2564
สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังจีน จะเน้นการขนส่งทางรถหรือทางบกให้มากขึ้น โดยเร่งเจรจาการขนส่งผ่านด่านของไทยไปสปป.ลาว เวียดนาม และจีน ให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ลงได้
นอกจากนี้ จะเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีด่านชายแดนทั้งหมด 97 ด่าน เปิดแล้ว 39 ด่าน ล่าสุดจากการเจรจาของกระทรวงพาณิชย์สามารถเปิดได้อีก 1 ด่าน คือ ด่านถาวรที่บึงกาฬ รวมเป็น 40 ด่าน และตั้งเป้าจะเร่งรัดเปิดอีก 3 ด่าน คือ 1.ด่านป่าแซง จ.อุบลราชธานี 2.ด่านเชียงคาน จ.เลย 3.ด่านท่าเรือหายโศก จ.หนองคาย โดยจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบาย เพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้นต่อไป
ส่วนปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม ซึ่งเดิมเคยติดขัดในเรื่องกฎระเบียบในการนำรถตัวอย่างไปตรวจสอบแทบทุกล็อต ต่อไปนี้ปัญหายุติแล้ว หลังจากที่อาเซียนได้ลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ (MRA) โดยได้ลงนามครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว เหลือขั้นตอนการให้สัตยาบัน โดยไทยจะเร่งนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรให้เร็วที่สุด คาดว่าจะทันในสมัยประชุมนี้ หากบังคับใช้ จะส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามได้ง่ายขึ้น และปัญหาการขนส่งรถยนต์จากโรงงานไปท่าเรือเพื่อส่งออก ที่เดิมติดปัญหารถไม่มีป้ายทะเบียน ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ล่าสุดหลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อยุติว่าจะไม่มีการจับกุม เพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่สามารถทำได้