หนึ่งในเหตุผลของการคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% อย่างเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ก็เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ขณะที่การกระจายตัวของสภาพคล่องยังไม่ทั่วถึง แม้สภาพคล่องโดยรวมในระบบอยู่ในระดับสูงก็ตาม
ทั้งนี้เพราะความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น ตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ดังนั้นนโยบายการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง
ซอฟต์โลนไม่คืบ
อย่างไรก็ตาม หลังการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้านหรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ช่วงกลางปี 2563 แต่ล่าสุด ณ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มียอดการอนุมัติสินเชื่อ 124,367 ล้านบาทเท่านั้นคิดเป็น 25% ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่กระจุกตัวในเอสเอ็มอีขนาดกลาง(วงเงิน ณ สิ้นปี 2562 ที่ 20-100 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 35.8% หรือวงเงิน 44,490 ล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีขนาดเล็ก(วงเงิน ณ สิ้นปี 2562 ที่ 0-20 ล้านบาท) ได้รับอนุมัติสินเชื่อไป 32,585 ล้านบาท คิดเป็น 26.2% ของซอฟต์โลนทั้งจำนวน
แม้ว่ารัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและธปท.จะปรับเงื่ือนไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ทั้งการขยายให้สามารถขอสินเชื่อซอฟต์โลนได้เกิน 2 ครั้ง แต่รวมกันไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2562 แก้ไขนิยามกลุ่มธุรกิจ เพื่อครอบคลุมกลุ่มหนี้ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือให้มากขึ้น โดยแยกนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาออกจากกันและนัความสัมพันธ์เพียงลำดับเดียว ล่าสุดได้ขยายเวลาขอกู้ ยืดเวลาชำระหนี้ได้ 5 ปี เพิ่มวงเงินกู้ รัฐรับชดเชยหนี้เสียเพิ่ม 80%
คาดสินเชื่อปี64 โต4%
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร หทารไทย หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คาดว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อปี 2564 ทั้งระบบจะเติบโตได้ที่ระดับ4% คิดเป็นมูลค่ายอดสินเชื่อ คงค้างราว 14.6 ล้านล้านบาท ชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เติบโต 4.3% คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 14.08 ล้านล้านบาท โดยปีนี้โอกาสสินเชื่อจะขยายตัว มาจากสินเชื่อรายย่อยที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตที่ 5% คิดเป็นมูลค่า 5.32 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เติบโต 4.5% ยอดสินเชื่อคงค้าง 5.07 ล้านล้านบาท
ส่วนสินเชื่อรายใหญ่คาดว่าจะเติบโต 5% มูลค่าคงค้าง 4.36 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วที่ขยายตัวได้ถึง 10% มูลค่าคงค้าง 4.15 ล้านล้านบาท เพราะอาจจะกลับมาออกหุ้นกู้ได้เป็นปกติขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ โดยยังคงติดลบที่ 0.5% คิดเป็นมูลค่าคงค้างที่ 4.56 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการติดลบน้อยลง เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ติดลบถึง 6% คิดเป็นมูลค่าคงค้าง 4.58 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่า เป็นปีที่ตํ่าที่สุดแล้ว
หนี้เสียยังไม่ชัด
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังอยู่ในช่วงของการพักชำระหนี้ หรือบางรายอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ถ้าหากมีการปรับโครงสร้างหนี้ค่อนข้างมาก ตัวเลขก็จะสะท้อนการจัดชั้นลูกหนี้ให้ดีขึ้น ซึ่งอยู่ในชั้นที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage1) โดยเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Stage3) และลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage2) ดังนั้นตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จะไม่สะท้อนตัวเลขจริงไปจนถึงสิ้นปี 2564 ขณะเดียวกันแต่ละสถาบันการเงินต้องใช้ทรัพยากรที่มี เพื่อดูแลลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ด้วย
“สินเชื่อทั้งระบบปีนี้ ทีี่จะเติบโต 4% สอดคล้องกับแต่ละธนาคารที่ตั้งเป้าสินเชื่ออยู่ในช่วง 3-5% เป็นการขยายตัวเพิ่มจากสินเชื่อรายย่อย ซึ่งจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ผ่านมา พบว่า ลูกหนี้รายย่อยสามารถออกจากมาตรการและกลับมาผ่อนชำระหนี้ได้มากกว่ากลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังเติบโตได้ดี ไม่รวมเครดิตการ์ด สินเชื่อรถยนต์ก็มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ตามยอดขายรถยนต์ที่กลับมาดีกว่าปีก่อน แนวโน้มจะเห็นการแข่งขันในสินเชื่อรถยนต์ทั้งรถแลกเงินและจำนำทะเบียนแต่รถยนต์ใหม่การแข่งขันไม่มาก ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะชะลอตัวด้วยอัตราผลตอบแทนที่ล้อกับดอกเบี้ยตํ่า”
ขณะทีี่แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อแต่ละไตรมาสปี 2564 คาดว่า ในไตรมาส1 จะขยายตัวได้ 3% ยอดสินเชื่อคงค้างมูลค่าราว 14.17 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากสินเชื่อรายย่อย 3.5% มูลค่า 5.01 ล้านล้านบาท สินเชื่อรายใหญ่ 6.5% มูลค่า 4.25 ล้านล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอียังคงติดลบประมาณ 7% มูลค่า 4.57 ล้านล้านบาท
เงินฝากปี64โต6%
สำหรับด้านเงินฝากนั้น หากสินเชื่อทั้งระบบขยายตัว 4% เงินฝากมีโอกาสขยายตัวราว 6% ซึ่งเติบโตมากกว่าสินเชื่อเหมือนปีที่ผ่านที่สินเชื่อเติบโต 4.3% ขณะที่เงินฝากเติบโตได้ 12% เพราะคนส่วนใหญ่ยังเก็บเงินสดและฝากเงินระยะสั้น ซึ่งสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) คาดว่า จะอยู่ที่ 62% เร่งตัวขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 57% ส่วนหนึ่งธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารส่วนใหญ่จะชะลอการออกแคมเปญ ไม่เร่งระดมเงินฝาก เพื่อบริหารจัดการต้นทุนด้านเงินฝาก ประคองทิศทางส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) ให้ทรงตัว หรือให้ชะลอลง โดยปี 2564 อาจชะลอลงมาที่ 2.65-2.75%
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%
6 ขุนพลกนง. เอ็กซเรย์ 4 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย
รายงานกนง.ให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หนุนนโยบายเงินผ่อนคลาย
SME D Bank คลอดอั่งเปาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหนุนเอสเอ็มอีรับตรุษจีน