ปี2563 ไทยมีการส่งออกรูปเงินบาท มูลค่า 7.17 ล้านล้านบาท นำเข้า 6.50 ล้านล้านบาท ไทยยังเกินดุลการค้า 6.76 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในแง่การนำเข้า ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรระบุปี 2563 มีผู้นำเข้าทั้งสิ้น 96,756 ราย
สำหรับผู้นำเข้าในกลุ่ม 100 อันดับแรก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนํ้ามัน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ค้าทองคำ รถยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร และอาหารทะเลแปรรูป ในจำนวนนี้ผู้นำเข้ารายใหญ่ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) (บมจ.)(ธุรกิจนํ้ามัน) 2.บมจ.ปตท.(ธุรกิจนํ้ามัน) 3.บมจ.ไออาร์พีซี(นํ้ามันและปิโตรเคมี) 4.บริษัท บริงค์ส (ประเทศไทย) จำกัด (บจก.) (ธุรกิจรับส่งสินค้า) 5.บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย) (อิเล็กทรอนิกส์) 6.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (ปิโตรเคมี) 7.บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (นํ้ามัน) 8.บจก.ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) (อิเล็กทรอนิกส์) 9.บจก.เอชจีเอสที (ประเทศไทย) (ค้าทองคำ) และ 10.บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็กโทรนิคส์ (ประเทศไทย)(อิเล็กทรอนิกส์)
สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้าปี 2563 ไทยมีการนำเข้านํ้ามันดิบ 53.79 ล้านบาร์เรล (มูลค่า 5.30 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 48.19 ล้านบาร์เรล(มูลค่า 6.67 แสนล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 12% ผลพวงจากราคานํ้ามันดิบปรับตัวลดลง ทำให้มีการนำเข้ามาสต๊อกเพิ่มขึ้น, สินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ นำเข้า 2.70 แสนล้านบาท จากปีก่อนนำเข้า 2.57 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%, อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้า 5.04 แสนล้านบาท จากปีก่อนนำเข้า 4.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ผลจากโควิด-19 ทำให้มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เกี่ยวเนื่องเข้ามาประกอบเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จาก work from home
ส่วนการนำเข้าทองคำ มีการนำเข้า 1.32 แสนตัน มูลค่า 1.57 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีการนำเข้า 1.57 แสนตัน มูลค่า 2.18 แสนล้านบาท แต่ปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกทองคำสูงเป็นประวัติการณ์ จากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดที่ระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยปี 2563 ไทยส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูป(ทองคำแท่ง) 2.43 แสนตัน (+43%) มูลค่า 4.16 แสนล้านบาท (+77%)
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตในไทยยังพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศในปริมาณสูง รวมถึงบริษัทต่างชาติในไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเจ้าของและนำเข้ามาจากประเทศอื่น ดังนั้นหากสามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี(SMEs)ผลิตวัตถุดิบหรือกึ่งสำเร็จรูปเพื่อตอบสนองบริษัทเหล่านี้เพื่อทดแทนการนำเข้าได้จะช่วยใน 2 เรื่อง คือ 1.ลดการสูญเสียเงินตราให้ต่างประเทศ 2.ช่วยยกระดับศักยภาพการผลิตของเอสเอ็มอีไทย
“ข้อเสนอแนะคือ 1.ประเทศไทยควรมีกฎหมาย “Buy Thailand” เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเอสเอ็มอีไทย โดยมีแรงจูงใจด้านภาษี และ 2.ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศตํ่ากว่าผลิตในไทย จูงใจให้มีการนำเข้า ถ้าเป็นเหตุผลนี้เอสเอ็มอีไทยต้องบริหารต้นทุนให้ได้”
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากเศรษฐกิจของสหรัฐฯและจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วจากผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เอง และเริ่มฉีดให้ประชาชนแล้ว จะเป็นโอกาสของไทยส่งออกไปสองตลาดนี้ได้เพิ่ม ทำให้มีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อผลิตส่งออกเพิ่ม รวมถึงการนำเข้าทองคำเพื่อเข้ามาเก็งกำไรและส่งออกไปช่วงที่มีส่วนต่างราคาสูงก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยต้องจับตานโยบายของไบเดน ผู้นำสหรัฐฯที่ประกาศจะใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า นักลงทุนจะหันมาถือครองทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,653 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564