“ชาวไร่ข้าวโพด” อาชีพเสี่ยงสูญพันธุ์ ในอีก 2 ปี

13 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

4 แสนครัวเรือน ผงะ อาชีพ "ชาวไร่ข้าวโพด" อีก 2 ปีข้างหน้า เสี่ยงสูญพันธุ์ "จีน" พลิกส่งออก ชิงเค้กตลาดโลก ชิ่งกระทบ "มันสำปะหลัง" ลดนำเข้า ไทยระส่ำ ร้องรัฐ กู้วิกฤติ ด่วน ล่มสลาย

ความท้าทายของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย นับถอยหลัง 2 ปีนับจากนี้ น่าจับตาว่าจะถึงจุดจบของอาชีพแบบชาวไร่ถั่วเหลือง หรือไม่ เพราะในวันนี้ข้าวโพดของเกษตรกรเจอพายุโหมกระหน่ำหลายลูก จากถูกหลายสินค้านำเข้าที่ทดแทนกันได้ตีตลาดเช่น กากข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์

จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี พ.ศ. 2563 -2567 ที่มีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน เผยข้อมูลการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559/60 - 2563/64) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1,127.66 ล้านตัน ในปี 2559/60 เป็น 1,163.21 ล้านตัน ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.94 ต่อปี (ข้อมูล ณ ก.ค.2563)  โดยประเทศผู้ผลิตหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 32.95) จีน (ร้อยละ 23.20) บราซิล (ร้อยละ 8.73) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 5.77) และอาร์เจนตินา (ร้อยละ 4.00)

ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวโพดหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 32.77) บราซิล (ร้อยละ 18.98) อาร์เจนตินา (ร้อยละ 18.42) ยูเครน (ร้อยละ 16.32) และรัสเซีย (ร้อยละ 2.72)  และประเทศผู้นำเข้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหภาพยุโรป (ร้อยละ 12.50) เม็กซิโก (ร้อยละ 10.02) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.56) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 6.46) และเวียดนาม (ร้อยละ 6.23)

ทั้งนี้ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2559/60 - 2563/64 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1,087.80 ล้านตัน ในปี 2559/60 เป็น 1,160.12 ล้านตัน ในปี 2563/64 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.59 ต่อปี โดยประเทศผู้ใช้หลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 27.77) จีน (ร้อยละ 23.97) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 7.30) บราซิล (ร้อยละ 5.84) และเม็กซิโก (ร้อยละ 3.87)

ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อเมริกันชั้น 2 ตลาดชิคาโกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2558/59 - 2562/63 มีแนวโน้มลดลงจากตันละ 5,313 บาท ในปี 2558/59 เหลือตันละ 4,773 บาท ในปี 2562/63 หรือลดลงร้อยละ 2.82 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลง 2 ปีต่อเนื่อง จูงใจให้โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไทยมีการนำเข้าเพิ่ม (ปี 2562 ไทยมีการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ 6.81 แสนตัน มูลค่า 4,772 ล้านบาท ปี 2563 เพิ่มเป็น 1.58 ล้านตัน มูลค่า 8,686 ล้านบาท) 

“ข้าวโพดสหรัฐฯ ผลผลิตเฉลี่ย 1,780 กิโลกรัมต่อไร่ ฤดูกาลที่ผ่านมา ราคาประมาณ กก. ละ 4.50-5.50 บาท ส่งมาขายตลาดเอเชีย 6.50-8 บาทต่อกิโลฯ ขณะที่ข้าวโพดไทยราคาเฉลี่ยที่ 8.50 บาทต่อกิโลฯ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพียง 701 กิโลฯ ในฤดูกาลผลิต 2563/64 ที่ผ่านมา”แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา “การตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ในตลาดโลก ส่วนใหญ่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และวัตถุดิบทำเอทานอล เมื่อเป็นสินค้าวัตถุดิบ ตลาดจึงแข่งขันกันด้วย 1. “ราคา” ประเทศไหนที่สามารถทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงภายใต้ต้นทุนผลิตที่เหมาะสมก็จะได้เปรียบเพราะต้นทุนต่อกิโลกรัมที่ตํ่ากว่า ดังนั้นจะสู้ได้ต้องทำให้ต้นทุนผลผลิตข้าวโพดแห้งต่อกิโลกรัมตํ่าสุด

 

ประเทศผู้ผลิตข้าวโพด

 

นอกจากนี้การดูแลปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจากภาครัฐที่ปัจจุบันมีโครงการประกันรายได้ (8.50 บาทต่อกก.) หากอนาคตโครงการสิ้นสุด และเกษตรกรไม่สามารถพัฒนาการปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตแห้ง 1,200 กก.ต่อไร่ ใน 2 ปีอนาคตอาชีพปลูกข้าวโพดจะถดถอยถูกตลาดบีบให้ลด ละ เลิกเร็วขึ้น จากมีวัตถุดิบทดแทนที่นำเข้ามา เห็นได้จากมีคนกล่าวไว้ว่า “วัตถุดิบทั่วโลกคือวัตถุดิบของอาหารสัตว์ไทย” 

2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศเพื่อนบ้านต่างนำเข้ามาขายในประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศเมียนมาที่มีการขยายพื้นที่การปลูกมากในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา และยังมีจากลาว กัมพูชา แถมมีโอกาสข้าวโพด GMO อาร์เจนติน่าจะปะปนมาทางด้านกัมพูชาด้วย (ไทยห้ามนำเข้าข้าวโพดจีเอ็มโอ) ซึ่งในอนาคตจะถูกส่งเข้ามาขายมากขึ้น

3.จีนผู้ผลิตข้าวโพดอันดับ 2 ของโลก จำนวน 255 ล้านไร่ เริ่มอนุญาตให้ปลูกพันธุ์ที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม(พันธุ์ GMO) ที่ต้านทานหนอน ต้านทานสารไกลโฟเซต ทำให้มีโอกาสผลผลิตเพิ่มขึ้นมากจากที่ต้องนำเข้า มีโอกาสที่จีนจะเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ในอนาคต รวมถึงมีโอกาสลักลอบส่งออกข้าวโพด GMO มาที่ไทย ผลกระทบต่อเนื่องที่ตามมาคือจีนอาจลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทย จากจะใช้ข้าวโพดในการผลิตเอทานอล แทนมันสำปะหลังมากขึ้น

จากปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าอนาคตอาชีพผู้ปลูกข้าวโพดของไทยที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4.06 แสนครัวเรือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย เสี่ยงจะสูญเสียอาชีพ จากถูกกลไกตลาดบีบให้ลด ละ เลิกเร็วขึ้น (ดังตัวอย่างอาชีพปลูกถั่วเหลืองที่ปลูกกันหลังเก็บเกี่ยวข้าวได้เลิกปลูกกันไปจนเกือบหมดแล้ว) ทั้งนี้หากไม่เร่งปรับตัว เช่น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนให้ตํ่าสุด ปลูกพืชอื่นทดแทน และอื่น ๆ โดยรอให้เวลามาถึงตัวอาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาด

ที่มา : หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,653 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผงะ จีนหนุนปลูกข้าวโพด จีเอ็มโอ 255 ล้านไร่

เช็กสิทธิ์ “ประกันรายได้ข้าวโพด” ระส่ำ เงินไม่พอ

CPTPP “ไบเดน” มาแน่ ไทย จะเอาอย่างไร