7 แอร์ไลน์สรวมตัว
การจัดตั้งสมาคมสายการบินประเทศไทย เป็นความร่วมมือของ 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบินไทยสมายล์,สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่พวกเรามีโอกาสได้คุยกันมากขึ้น หลังจากเกิดโควิด-19 เพราะกระทรวงคมนาคมนัดสายการบินต่างๆเข้าไปหารือหลายครั้ง
จากก่อนโควิด-19 ที่ต่างคนต่างทำ แต่เมื่อมาเจอกันมากขึ้น ก็เห็นตรงกันว่าเราควรจะทำอะไรร่วมกันมากขึ้น จึงคุยกันตั้งแต่ปีที่แล้วว่าน่าจะตั้งสมาคมนี้ขึ้นมา แต่เพิ่งจดทะเบียนตั้งสมาคมฯไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 สมาชิกมี 7 สายการบินทุกคนมีเสียงเท่ากันหมด ซีอีโอแต่ละสายการบินร่วมเป็นคณะกรรมการ ส่วนที่ไม่มีการบินไทย เพราะมีสายการบินไทยสมายล์ซึ่งการบินไทยถือหุ้นอยู่แล้ว และการบินไทยก็ยังอาจจะไม่สะดวกเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเวลานี้
วัตถุประสงค์ของการตั้งสมาคมนี้ขึ้นมา ก็เพื่อส่งเสริม พัฒนาการบริการ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจการบิน และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของประเทศ
แจง 3 ภารกิจเร่งด่วน
สมาคมฯได้หารือร่วมกันเพื่อผลักดันภารกิจเร่งด่วน คือ ทำอย่างไรถึงรอดจากโควิดให้ได้ โดยจะมีเรื่องเร่งด่วนเพื่อเสนอรัฐบาลที่จะผลักดัน 3 เรื่อง ได้แก่
1.เสนอให้รัฐบาลพิจารณาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับพนักงานสายการบิน เพื่อสร้างเชื่อมั่นให้เกิดการเดินทาง เพราะพนักงานเหล่านี้เป็นด่านแรกที่รับนักท่องเที่ยว โดยทั้ง 7 สายการบินมีนักบิน-ลูกเรือที่ทำงานด่านหน้ารับนักท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 10,300 คน
2.การให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาเรื่องของวัคซีน พาสปอร์ต ซึ่งสมาคมฯมีการหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำเสนอเรื่องขึ้นไปยังรัฐบาล
3.มาตราการและแนวทางสำหรับสายการบินในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรัฐบาลควรจะเลือกประเทศคู่เจรจาในลักษณะTravel Bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน การพิจารณาลดวันกักตัวลงเพราะในขณะนี้มีเรื่องของวัคซีนมาช่วยสร้างความมั่นใจ และการติดเชื้อในไทย มียอดการติดเชื้อราว 2 หมื่นกว่าคน เมื่อเทียบกับประชากร และเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่ามีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำมาก
จากสถิตินี้บอกได้อย่างหนึ่งว่าไทยมีการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยจากโควิด-19 อยู่ในระดับที่ดี และเมื่อคนไทยทยอยได้รับการฉีดวีคซีน การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก็จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งทางสมาคมฯจะมีการหารือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เรื่องของมาตรการและกฏระเบียบต่างๆในการเตรียมความพร้อมการรับนักท่องเที่ยว
การบินฟื้นปกติปี 68
เนื่องจากในขณะนี้หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอกจากนี้ทางสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า)ก็อยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ ในการนำเสนอ Travel Pass ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้เดินทางได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศ
ไออาต้าก็มองว่าการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จะทำให้ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้คนจะมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งทางสมาคมฯ ก็มองว่าในไทยไตรมาส4 ปีนี้ ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามาได้ แต่ก็จะค่อยๆทยอยกลับเข้ามา
โดยในช่วงไตรมาส4 ปีนี้ไปจนถึงปี 2565 คาดว่าการเดินทางจะกลับขึ้นมาราว 30-40% จากนั้นในปี 66-67 ก็น่าจะกระเตื้องขึ้น แต่กว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ น่าจะเป็นช่วงปี 68 ซึ่งการฟื้นตัวน่าจะเป็นในลักษณะ U Shape เพราะสถานการณ์ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยจากโควิดเท่านั้น แต่มีเรื่องของเศรษฐกิจและกำลังซื้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แต่วันนี้อย่างน้อยเราก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากการเริ่มมีเรื่องของวัคซีน จากก่อนหน้านี้ที่เดินไม่เห็นปลายอุโมงค์เลย ได้แค่เดินไปเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่กว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา ธุรกิจการบินจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงแผนใช้เครื่องบิน ปรับปรุงเส้นทางบิน เพื่อประคองตัวให้ได้ไปถึงจุดที่ธุรกิจจะฟื้นกลับมา
ยังหวังซอฟต์โลนจากรัฐ
ขณะเดียวกันแต่ละสายการบินก็คงมีทิศทางการประคองตัวเหมือนๆ กัน ซึ่งนอกจากการช่วยเหลือตัวเอง ทั้ง 7 สายการบินก็อยู่ระหว่างการรอมาตรการซ็อฟโลนจากรัฐบาล ที่ได้ขอปรับลดจาก 2.4 หมื่นล้านบาทลงมาเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อประคองการจ้างงาน ที่ตอนนั้นทุกสายการบินมีพนักงานอยู่ที่ 2.5-3 หมื่นคน ปัจจุบันเหลือ 1.6 หมื่นคน เราก็รอการพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนี้อยู่
เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้เกิดเดินทางภายในประเทศต้องหยุดชะงักไปเมื่อเดือนมค.-ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ซ้ำเติมให้ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบ เพิ่งจะเริ่มมีสัญญาณกลับขึ้นมาในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่การเดินทางก็จะเป็นเฉพาะช่วงวันหยุดหรือหยุดยาวเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามการรวมตัวกันตั้งสมาคมนี้ขึ้นมา เราจะร่วมมือกันเฉพาะความร่วมมือระดับนโยบายเท่านั้น แต่จะไม่มีการคุยกันเรื่องเชิงพาณิชย์ หรือการแบ่งส่วนตลาดกันแต่อย่างใด เพราะเรื่องเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องการทำงานของแต่ละสายการบิน ที่แต่ละสายมีการขายและกลยุทธ์ในการทำตลาดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่ทุกสายยินดีให้ความร่วมมือในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว
อย่างโครงการที่จะจัดโปรโมชั่นของทั้ง 7 สายการบิน เพื่อกระตุ้นการเที่ยวในประเทศ ที่จะทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ละสายการบินก็จะเสนอราคากันขึ้นไปเอง สมาคมจะร่วมมือกันในภาพใหญ่เป็นระดับนโยบายเพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564