ทัวร์ลง งดจ่าย “เงินประกันรายได้ยาง” พ่นพิษ

23 มี.ค. 2564 | 09:40 น.

“เงินประกันรายได้ยางพารา” งวด5 พ่นพิษ ลาม บอร์ด กยท. งานเข้า เจอ ทัวร์ลง โดนด่าเละทุกโพสต์  เผย ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวน ไปต่อ หรือ พอแค่นี้

ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564 รอบแรกได้มีการเคาะจ่ายส่วนต่าง “ประกันราคายาง” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีความคืบหน้า ตามลำดับ เกษตรกรชาวสวนยาง เช็กสิทธิ์ ผ่านลิงค์ http://www.rubber.co.th/gir/index/  และตรวจสอบสถานะการโอนเงินได้  https://chongkho.inbaac.com/   ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งผ่านมา 4 งวดแล้ว นั้น

 

สุนทร รักษ์รงค์

 

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวาน  (23 มี.ค.64) ได้มีการประชุมคณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งวด 5 เดือนกุมภาพันธ์

 

“สรุปผล ราคากลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกันรายได้ คือ ยางแผ่นดิบ 62.34 (ประกันรายได้ 60) น้ำยางสด 62.43 (ประกันรายได้ 57) ยางก้อนถ้วย 23.74 (ประกันรายได้ 23.00) ทำให้ไม่สามารถชดเชยส่วนต่างได้ เพราะราคายางสูงขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ผมได้ลงโพสต์และมีข่าวลงทางสื่อ”


 

เงินประกันรายได้ยางงวด 5 สูงกว่าราคาประกัน

 

นายสุนทร กล่าวว่า ปรากฎว่า ในคอมเมนท์มีคนหงุดหงิด ด่าทอผมมากมาย ทั้งๆที่ผมแค่เป็นไปรษณีย์เอาข่าวสารมาบอก ตอนราคายางตกต่ำ มีส่วนต่างของราคาและสามารถชดเชยได้ทั้ง 2 เฟส ได้ประโยชน์ก็ไม่บ่น พอราคายางสูงไม่ได้เงินชดเชย บางคนก็ด่าผมด้วยภาษาที่หยาบคาย

 

“ผมไม่โกรธ และ เข้าใจด้วยซ้ำไปว่าเกษตรกรไทยที่เป็นอย่างนี้ เพราะอยู่ในลัทธิหวังพึ่ง รอคอยแต่ความช่วยเหลือจากรัฐและคนอื่น ไม่เคยคิดพึ่งพาตนเอง พอบอกให้ทำสวนยางยั่งยืน เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายยางเพียงอย่างเดียวก็ไม่สนใจ เพราะติดกับดักเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว

 

 

แต่อยากอธิบายว่า "โครงการประกันรายได้" คือ "การประกันราคา" ว่าพี่น้องชาวสวนยางจะมีรายได้จากการขายยางที่ "ราคาประกัน" เมื่อขายยางได้ "เกินราคาประกัน" รัฐบาลจะจ่ายชดเชยให้ได้อย่างไร ผิดกฎหมาย พอไม่ได้ดังใจต่างก็โกรธและเกลียดกัน

 

นายสุนทร  กล่าวอีกว่า ผมก็คน มีความรู้สึก อารมณ์ และเลือดเนื้อเหมือนคนอื่น ตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางให้พ้นจากความยากจนและความไม่รู้ ครั้งนี้ผมอาจกลับมาทบทวนตัวเองเหมือนกันว่า หรือจะปล่อยให้พี่น้องเรียนรู้เอง ตามยถากรรม โดยที่ผมจะหยุดการขับเคลื่อน ปล่อยให้พี่น้องเป็นเหยื่อระบบอุปถัมภ์ของนักการเมือง หรือให้ยางเป็นพืชการเมืองต่อไป ดีไหมครับ ผมขอความเห็นจากพี่น้องชาวสวนยางด้วยนะ ว่าจะให้ทำอย่างไร นับจากนี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร จ่ายส่วนต่าง "ประกันราคายางพารา" งวด 5 อัพเดท ล่าสุด

ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร จ่ายส่วนต่าง "ประกันราคายางพารา" งวด4 ล่าสุด

ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร จ่ายส่วนต่าง "ประกันราคายางพารา" งวด 3

"ประกันราคายางพารา" งวด2 นัดโอน 28-29 ธ.ค.นี้

ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร จ่ายส่วนต่าง "ประกันราคายางพารา" งวด1 ล่าสุด