มกอช. แนะขั้นตอนมาตรฐาน “ปางช้าง”

02 เม.ย. 2564 | 10:45 น.

​​​​​​​เลขาฯ มกอช. เดินสายติวเข้มเกษตรกร ผู้ประกอบการ “ปางช้าง เตรียมพร้อมยื่นขอรับรอง สร้างภาพลักษณ์ใหม่ “สวัสดิภาพสัตว์” อวดสายตาโลก

พิศาล พงศาพิชญ์

 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า “ช้าง” ถือว่ามีบทบาทด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และได้สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในส่วนเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าปางช้างบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพช้างและ หลักสวัสดิภาพสัตว์

 

ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช้าง และการทารุณกรรมช้าง คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงมีมติเห็นชอบให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง (มกษ.6413) เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติ ในการจัดการควบคุมดูแลและเลี้ยงช้างให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย 

 

ทั้งนี้ มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ไม่ครอบคลุมการเลี้ยงช้างในครัวเรือน โดยไม่มีการประกอบกิจการที่ไม่แสวงหากำไร และจะบังคับใช้กับปางช้างทุกขนาดที่ประกอบกิจการเพื่อการท่องเที่ยว หรือการแสดงที่มีการได้รับผลประโยชน์จากช้างและมีผลบังคับใช้นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่ามีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2564

 

เร่งจัดการสวัสดิภาพช้าง

 

ดังนั้น มกอช. โดยกองส่งเสริมมาตรฐาน ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ ดำเนินการจัดอบรมสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง (มกษ.6413) ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปางช้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีแผนการอบรมสัมมนา จำนวน 4 รุ่น ผู้เข้าร่วมอบรมจำนวนทั้งสิ้น 217 คน  ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และรุ่นที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ส่วนรุ่นที่ 3 กรุงเทพฯ และรุ่นที่ 4 จังหวัดชลบุรี จะดำเนินการจัดอบรมในช่วงเดือนเมษายน 2564 นี้

 

สำหรับเนื้อหาในการจัดอบรม ได้แก่ การจัดการสวัสดิภาพช้างในปางช้าง การจัดการปางช้าง แนวทาง การควบคุมสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการขอรับรองและออกใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ และหลักเกณฑ์การตรวจประเมิน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องจาก มกอช. และกรมปศุสัตว์ ร่วมให้ความรู้

 

“ทั้งนี้ คาดหวังว่า เกษตรกร ผู้ประกอบการปางช้าง ได้รับความรู้ และมีความเข้าใจเรื่องของมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว และสามารถนำไปปฏิบัติตามข้อกำหนดตามมาตรฐานบังคับได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ เกษตรกร ผู้ประกอบการปางช้าง ที่ผ่านการอบรม จะได้รับใบรับรองจาก มกอช. และกรมปศุสัตว์ เพื่อนำไปใช้ประกอบการสมัครขอรับรองมาตรฐานปางช้างต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว