นิคมกรีนอุดรฯคึก ล่าสุด"เจียงกรุ๊ป"ยักษ์ธุรกิจริมโขงลงพื้นที่หาฐานผลิตอีไบค์ ด้านรัฐมนตรี-ที่ปรึกษาลงตรวจงานถี่ยิบ เร่งแผนรับไฮสปีดจีน-ลาวที่จะเปิดหวูดปลายปีนี้
โครงการนิคมอุดรธานีหรือนิคมกรีนอุดรฯ เร่งมือโครงสร้างพื้นฐานวางระบบสาธารณูปโภค ให้พร้อมรับการเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวปลายปี 2564 นี้ ที่จะเป็นตัวจุดประกายการลงทุนในอีสานเหนือ สู่ตลาดภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่สามารถเชื่อมโยงถึงจีนตอนใต้ กลุ่มทุนทั้งไทยและเทศให้ความสนใจลงพื้นที่นิคมกรีนอุดรฯ เล็งหาที่ตั้งฐานการผลิตใหม่อย่างคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายกิตติศักดิ์ สกุลคู นำคณะผู้บริหารของกลุ่มบริษัท เจียง คอร์ ปอเรชั่น จำกัด ลงพื้นที่ชมความคืบหน้าโครงการนิคมเมืองอุดรธานี ที่ ต.โนนสูงอ.เมืองอุดรธานี โดยมีนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับและชี้แจงแผนพัฒนาโครงการ ที่พร้อมรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาตั้งโรงงาน เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท เจียง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของภาคอีสานตอนบน มีแผนการจะลงทุนผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle : EV และกำลังศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสม ในการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน เพื่อทำการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ที่เป็นยานยนต์แห่งอนาคต ที่ภาครัฐมีนโยบายให้การสนับสนุน เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่จะนำไปสู่ภาวะโลกร้อน โดยได้เล็งเห็นศักยภาพของนิคมฯอุดรธานี ในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตรถจักรยาน ยนต์ไฟฟ้า EV Hubของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นอกจากความเคลื่อนไหวของนักลงทุนแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีทีมงานรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่นิคมกรีนอุดรฯอย่างต่อเนื่อง วันที่ 18 มี.ค.2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงตรวจพื้นที่ภาคอีสานตอนบน เยี่ยมชมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคคืบหน้าใกล้แล้วเสร็จพร้อมเปิดรองรับการลงทุนเร็ว ๆ นี้
นายอลงกรณ์กล่าวด้วยว่า จากที่อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณ รัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะ เข้าหารือที่กระทรวงเกษตรฯเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึง ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือในโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ซึ่งขณะนี้มี 8 กลุ่มจังหวัดที่เริ่มและอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ เพื่อรองรับการลงทุนจากผู้ประกอบการจีน เช่น นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยฝ่ายจีนยืนยันพร้อมสนับสนุนการลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร พร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการด้วย
วันรุ่งขึ้น ดร.เสกสกล หรือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ (ฉายาแรมโบ้อีสาน) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายธีระชัย แสนแก้ว อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
ดร.เสกสกล กล่าวว่า ได้รับบัญชาจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มาดูความก้าวหน้าโครงการ ซึ่งนายกฯติดตามมาตลอด และให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ให้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นในภาคอีสาน
ทั้งนี้ ในพื้นที่ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่เป็นปัญหาหลักคือกับหน่วยงานรัฐ อาทิ การขอรับการสนับสนุนสร้างทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ ระยะทาง 1.8 ก.ม.ไปเชื่อมต่อกับพื้นที่ของโครงการ การก่อสร้างถนน Local Road เลียบทางรถไฟไปถึงตัวเมืองอุดรฯ ประมาณ 14 ก.ม. การปรับปรุงบริเวณทางแยกจากถนนมิตรภาพเข้าสู่โครงการ
“ปัญหาดังกล่าวท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบจากรายงานแล้ว ขึ้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานสามารถที่จะอนุมัติงบประมาณส่วนไหนมาเพื่อผลักดันทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ก็เชื่อว่าจะมีการลงทุนอย่างแน่นอน”
ส่วนการขอให้ทบทวนเรื่องสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอ. ให้ผู้ลงทุนในนิคมเมืองอุดรธานี ได้สิทธิพิเศษเหมือนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหนองคาย “แรมโบ้อีสาน” รับว่าจะนำไปรายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
“ถ้าให้ได้รับสิทธิพิเศษ 8 ปี ผมเชื่อมั่นว่าการลงทุนของไทยสามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้อย่างแน่นอน แม้ว่าเราจะได้รับน้อยกว่า 1 ปี ก็ตาม ก็จะสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ภาคอีสานได้ ไม่จำเป็นที่จะไปลงทุนในประเทศอื่น”
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ พร้อมนายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีอุตสาหกรรม นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นคณะล่าสุด
ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ทางผู้บริหาร โครงการขอสิทธิประโยชน์ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตามประกาศบีโอไอที่ 1/2543 ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล 8 ปี และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอื่น ๆ ตามเกณฑ์ที่ตั้ง (Zone Based) เพื่อเพิ่มศักยภาพการดึงดูดการลงทุน และเป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ที่เน้นความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง “โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานในนิคมฯ ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน นอกเขตนิคมฯและตามชุมชนอีก 60,000 คน ขณะเดียวกันก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นประมาณ 100 โรง สามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5- 2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย” ผู้ว่าการกนอ.กล่าว
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง