นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมพิธีลงนามความเข้าใจระหว่าง บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) ว่า การดำเนินงานดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ สสว. ร่วมมือกับ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และกองทัพอากาศ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต ให้มีช่องทางดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19)
ภายใต้มาตรการกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้าสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ด้วยการส่งเสริมให้เอสเอ็มอี (SMEs)ได้รับทราบความต้องการสินค้าและบริการในการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพอากาศและบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนและพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานผู้ซื้อ
“การลงนามความเข้าใจครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการปรับตัวจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ไปสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุง เนื่องจากการได้รับผลกระทบจากนโยบายการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV)โดยคาดว่า จะช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วนอากาศยานบางชนิดที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้ในประเทศ และนับเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท”
สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินในประเทศ ทั้งของภาครัฐและเอกชน มีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้น การลงนามความเข้าใจครั้งนี้ คาดว่า จะสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่าดังกล่าวหรือคิดเป็นมูลค่า 400 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์ประมาณ 3,000 ราย
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ได้มีนำผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ศึกษาดูงานเพื่อรับทราบความต้องการล่วงหน้าของผู้ซื้อ คือกองทัพอากาศ และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อม และวางแผนการผลิตสินค้าหรือร่วมผลิตชิ้นส่วนให้กับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ตรงความต้องการของผู้ซื้อ นำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านชิ้นส่วนอากาศยาน เข้าเยี่ยมชมกิจการของ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด
และการดำเนินงานของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตาคลี จ. นครสวรรค์ เพื่อศึกษาดูงานการซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศ รวมทั้งการดำเนินงานของกลุ่มพัสดุ อุปกรณ์ภาคพื้นที่ใช้สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์ ตู้เก็บเครื่องมือสำหรับการซ่อมบำรุงอากาศยาน และกลุ่มพัสดุอะไหล่ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน
อย่างไรก็ดี การศึกษาดูงานครั้งดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ ได้นำเสนอศักยภาพของตนเอง พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลิตภัณฑ์ บริการตามความต้องการของกองทัพอากาศ และอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงเกิดการเรียนรู้จากการสังเกตการณ์จากการปฏิบัติจริง อันนำไปสู่โอกาสในการพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์/บริการที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงของหน่วยงานภาครัฐได้ต่อไป
“การกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า จึงเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ ซึ่งมีแผนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ตั้งแต่การเตรียมตัวให้ได้การรับรองมาตรฐาน และในขั้นต่อไป สสว. จะร่วมกับบริษัท อุตสาหกรรมการบินฯ ในการจัดทำแผนแม่บทความร่วมมือด้านโจทย์การผลิตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงต่อไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :