สำหรับ “โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2” ประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ความชื้นจะต้องไม่เกิน 15% ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ (ข้าวหอมจังหวัด) ราคาตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือน ละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีราคาตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
ทั้งนี้เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยตามราคาประกัน จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 (รอบที่1) กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน -31 ตุลาคม 2563 ยกเว้น ภาคใต้ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563-28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน
สำหรับผลการดำเนินงาน การเคาะชดเชยประกันรายได้ข้าวมาถึงงวดที่ 22 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา จะเหลือเพียง 8 งวด เท่านั้น ก็จะเป็นการปิดฉาก ประกันรายได้ปี 2 โดยงวดที่ 1-22 ใช้เงินจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาข้าวไปแล้วกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเบิกจ่ายแล้ว 97.14% ซึ่งทางคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานได้มีการประเมินค่าจ่ายประกันรายได้ข้าว 8 งวดสุดท้าย กล่าวคือ งวดที่ 23-30 คาดว่าจะใช้เงินจ่ายส่วนต่าง ประมาณ 29.23 ล้านบาท จำนวนกว่า 1.4 หมื่นครัวเรือน เนื้อที่ปลูกกว่า 1.65 แสนไร่
อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าปี 2 โครงการประกันรายได้ข้าว ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อาจจะขรุขระ หลังจากที่ราคาข้าวในประเทศตกต่ำเป็นช่วง ๆ ทำให้รัฐบาลต้องอนุมัติกรอบวงเงินเพิ่ม ซึ่งในแต่ละรอบกว่าชาวนาจะได้เงิน เรียกว่า “หืดขึ้นคอ”
ประกอบกับที่รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ “เยียวยาเกษตรกร”, เราไม่ทิ้งกัน, ม33เรารักกัน และเราชนะ เป็นต้น จึงทำให้โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 พืช ปี 3 เรียกว่า เกษตรกรต้องลุ้นใจหายใจคว่ำว่าจะมีหรือไม่มี
แต่หากเปรียบเทียบกับ ผลการดำเนินในปีแรกจบอย่างสวยงาม แล้วยังมีเงินเหลืออีกด้วย (วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ถึง 31 พฤษภาคม 2563 จำนวน 30 งวด ( ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 1,102,250 ครัวเรือน จำนวนเงิน กว่า 1.9 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 1,527.70 ล้านบาท โดยวงเงินชดเชย คิดเป็น 92.70% ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ (20,940.84 ล้านบาท)
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามความคิดเห็นของชาวนาว่า รัฐบาลควรจะมีโครงการประกันรายได้ข้าว เป็นปีที่ 3 หรือไม่ หากมีรูปแบบควรจะเป็นอย่างไร
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ยังอยากให้มี และอยากจะให้เพิ่มข้าวเปลือกเจ้าพื้นนุ่ม เป็นน้องใหม่ ในโครงการประกันราคาข้าว เพิ่มจาก 5 ชนิด เป็น 6 ชนิด อาทิ พันธุ์กข79 และพันธุ์กข87 เป็นต้น ในราคาประกันที่สูงกว่าราคาข้าวเปลือกเจ้า แต่ไม่สูงกว่าราคาข้าวหอมปทุมธานี เพื่อจูงใจให้ชาวนาปลูกข้าวชนิดนี้เพิ่มขึ้น
ด้านนายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า นโยบายนี้ควรที่จะเดินหน้าต่อเป็นปีที่ 3 เพราะผลผลิตไม่ค่อยดี และชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาตลาดได้ เสนอให้ไม่ต้องแบ่งแยกชนิดข้าว แต่ให้เป็นแบบเหมาจ่าย โดยกำหนดครัวเรือนละไม่เกินกี่ไร่ และไร่ละกี่บาท จบทีเดียว
อีกด้านให้ผู้ใหญ่บ้าน กับเกษตรตำบล ต้องเข้มงวดควบคุมอย่างไรไม่ให้พื้นที่เข้าร่วมโครงการงอกเพิ่ม หรือไม่ให้ชาวนาขยายครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุที่เข้มงวด เพราะงบประมาณจะบานปลายตอนที่รัฐช่วยเหลือค่าปลูกหรือค่าเก็บเกี่ยว
โครงการประกันรายได้ข้าวปี 3 ยังไม่มีข้อสรุป ขณะยังต้องลุ้นรัฐบาลที่เวลายังต้องเผชิญศึกหนักหลายเรื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดรอบใหม่ การเมืองจากสารพัดม็อบที่ถาโถมเข้ามา เศรษฐกิจ-การเมืองโลกที่พร้อมพลิกผันได้ตลอดเวลา ซึ่งที่สุดแล้วรัฐบาลจะมีประกันรายได้ข้าวปี 3 หรือไม่ยังต้องติดตาม
ที่มา : หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคลียร์ ดราม่า "โรงสี" ไม่รับซื้อข้าว