จับตา“ชะลอขายยาง” ชาวสวนเป๋าตุง ฤาจะเสีย “ค่าโง่”

18 เม.ย. 2564 | 19:45 น.

จับตา โครงการชะลอขายยางพาราเพื่อดึงราคา ชาวสวนจะกระเป๋าตุงตามความคาดหวัง หรือจะเสียค่าโง่กันแน่ ฟังกูรูวิเคราะห์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และลุกลามไปทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศมีการออกมาตรการคุ้มเข้มการแพร่ระบาด มีการล็อกดาวน์ปิดประเทศ งดเดินทางเข้า-ออก ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่น ของทุกประเทศชะลอตัวหรือหยุดชะงัก เวลานี้สถานการณืก็ยังไม่นิ่ง แต่ละประเทศยังมีการกลับมาระบาดซ้ำเป็นระยะ

เฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยในอุตสาหกรรมยางพารา ที่ในปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวของภาคธุรกิจและอุตสาห กรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารา ทำให้ประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราขั้นพื้นฐานรายใหญ่สุดของโลกได้รับผลกระทบโดยตรง และส่งผลถึงทั้งห่วงโซ่การผลิตยางพาราเพื่อการส่งออก

ทั้งนี้มีผลให้จุดรับซื้อยางพาราหยุดรับซื้อ มีผลทำให้ราคายางพาราในประเทศลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นหน่วยการผลิตและแปรรูปยางพาราขั้นต้นได้รับความเดือดร้อน กระทบถึงการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในหลายด้านอย่างมาก

จากปัญหาดังกล่าว นายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับเขตภาคเหนือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงได้เสนอโครงการชะลอการขายยาง นำร่องดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อ 1.ชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเพื่อลดความผันผวนนของราคายาง 2.เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบัน เกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ มีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอขายผลผลิต 

สำหรับ “โครงการชะลอการขายยาง” กระบวนการเริ่มตั้งแต่ให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสถาบันเกษตรกร รวบรวมยางพาราแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ กยท.เข้าตรวจสอบ ปริมาณ ผลผลิต ชนิดและคุณภาพยางที่เข้าร่วมโครงการ จากนั้นก็ให้สถาบันเกษตรกรเก็บยางให้ครบจำนวนตามที่ขอรับสินเชื่อจาก กยท. (ใช้เงินมาตรา 49(3) ซึ่งการกำหนดราคาสินเชื่อจะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน อ้างอิงราคาตลาดกลางยางพารา (กราฟิกประกอบ)

 

ระหว่างเข้าร่วมโครงการหากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางนำยางที่จัดเก็บตามที่ระบุจำนวนไว้เมื่อรับเงินสนับสนุนสินเชื่อไปขาย โดยเป็นการขายผ่านตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพารา กยท.จะหักสินเชื่อกลับเข้าโครงการโดยคำนวณจากปริมาณที่ขายคูณด้วยราคายางที่ได้รับสนับสนุนสินเชื่อตามหลัก First in First Out และ กยท.จ่ายเงินส่วนที่เหลือให้แก่สถาบันเกษตรกร แต่หาก กยท.ตรวจสอบแล้วปริมาณไม่ครบตามจำนวน สถาบันเกษตรกรจะเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ประพันธ์  บุณยเกียรติ

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ มีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการและได้รับสินเชื่อแล้วจำนวน 5 สถาบัน ปริมาณยางก้อนถ้วยแห้ง DRC 75% จำนวน 15,447.50 ตัน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 85,730,472 บาท จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยสามารถชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาด และลดความผันผวนราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอการขายผลผลิต 

ดังนั้นจึงเตรียมเดินหน้าโครงการต่อโดยจะนำเรื่องเข้าบอร์ด กยท.ปลายเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้ทันเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นฤดูการเปิดกรีดยาง จะครอบคลุมทุกชนิดยาง ได้แก่ น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางสด เพื่อให้ราคายางสะท้อนความเป็นจริง เกษตรกรไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้เงินเข้ากระเป๋ามากขึ้น 

โครงการชะลอการขายยาง

ด้านนายกรกฎ  กิตติพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) มองต่างมุมว่า วิธีการดังกล่าวหากเก็บยางไว้แล้วราคาลดลง ใครรับผิดชอบ เบื้องต้นมองว่าไม่สามารถการันตีได้ว่าราคายางจะขึ้น การที่ กยท.นำมาตรการนี้ออกมาใช้คงเกรงว่าผลผลิตจะทะลัก ทำให้ราคาตก การเก็บและชะลอขายซึ่งอาจช่วยได้หากเศรษฐกิจโลกฟื้น และมีความต้องการที่แท้จริง ผลผลิตยางโลกขาด นโยบายนี้ทำออกมาก็มีโอกาสที่จะสำเร็จ

วรเทพ  วงศาสุทธิกุล

ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป กล่าวว่า ระวังเสียค่าโง่ จากการชะลอการขายยาง โดยให้เกษตรกรเก็บยางเพื่อรอราคาสูงแล้วขาย ซึ่งก็มีความเสี่ยงหากเก็บไว้ราคายิ่งต่ำลงๆ เกษตรกรรับขาดทุนไหวแค่ไหน อีกด้านหนึ่งลูกค้ามีทางเลือก หากไทยไม่ขายก็จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซียเมียนมา กัมพูชา และอื่นๆ มองว่าเป็นมาตรการทำให้ติดกับดักตัวเอง หรือเรียกว่า ขุดหลุมฝังตัวเอง เพราะเมื่อผู้ซื้อทราบว่าไทยมีสต๊อกมากจะบีบให้ต้องขายถูก เกษตรกรเก็บของไว้มากก็จะถูกบังคับขาย สุดท้ายไม่มีเงินใช้ เรียกว่าผีถึงป่าช้า ถึงสุสานก็ต้องเผา ต้องฝัง

ที่สำคัญสินค้ายางพาราของไทยไม่เหมาะที่จะเก็งกำไร เพราะมุ่งเน้นตลาดซื้อขายจริง ไม่ใช่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายกระดาษเพื่อเก็งกำไรมาก ยกตัวอย่างน้ำยางสด เก็บไว้ 7 วัน น้ำยางก็เน่าแล้ว จะไปขายใคร หรือน้ำยางข้นเก็บไว้ 3 เดือน ไม่ขายใคร ค่าของน้ำยางเปลี่ยน โรงงานปลายน้ำก็ใช้ไม่ได้ ยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน ก็เช่นเดียวกัน โรงงานยางรถยนต์ก็ใช้ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นชาวสวนยาง คงต้องรอลุ้นว่า โครงการ/มาตรการชะลอการขายยาง ที่ กยท. จะคิกออฟ จะตอบโจทย์เพิ่มเงินในกระเป๋าได้หรือไม่ หรือจะเป็นไปตามที่ผู้ส่งออกเตือน “ระวังเสียค่าโง่” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ข่าวจริง เคลียร์สต็อกยาง  1.04 แสนตัน

โลกสะพัด กยท.เทขายยางสต็อก 1.04 แสนตัน

ส่งออกQ2 ฟื้นชัด ยาง-สิ่งทอ-รถพุ่งยกแผง

อคส.ลุยเอาผิดถุงมือยาง 3บิ๊กหนาวโทษสูงสุดไล่ออก

ผู้ว่า กยท. เร่งขยายผลยางเถื่อนทะลัก