โควิดระลอก 3 ซ้ำเติมให้ธุรกิจการบินที่เดิมมีสภาพคล่องจำกัดอยู่แล้ว กำลังจะหมดลมหายใจ ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินต่างเร่งหาแหล่งเงินเสริมสภาพคล่อง รวมถึงบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่เพื่อต่อลมหายใจในการดำเนินธุรกิจให้ได้นานที่สุด
ทั้งนี้ปัจจุบันการหาแหล่งเงินใหม่ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินของภาครัฐและธุรกิจสายการบิน เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง รวมกันในขณะนี้อยู่ที่ราว 86,800 ล้านบาท ได้แก่
1.การเตรียมกู้เงินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท.ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยกู้ล็อตแรกไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและค่าใช้จ่ายของพนักงาน
2.บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กู้เงิน 1,800 ล้านบาทจากธนาคารกรุงไทย เพื่อมาเสริมสภาพคล่องในปี64 โดยจะเบิกเงินกู้มาใช้ในเดือนมิ.ย.64 และบางส่วนจะเก็บเป็นเงินสำรองเพื่อใช้ในช่วงต้นปี65
3.การเจรจาเงินกู้ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จากสถาบันการเงิน วงเงินราว 4 พันล้านบาท เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจการบิน เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ซึ่งกว่าสถานการณ์การบินจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติน่าจะเป็นช่วงปี68 เนื่องจากกระแสเงินสด ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 มีเหลืออยู่ราว 2,100 ล้านบาท
4.การหาแหล่งเงินเพื่อฟื้นฟูกิจการของการบินไทย 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังต้องรอการประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 12 พ.ค.นี้ว่าจะผ่านหรือไม่ เนื่องจากต้องเจ้าหนี้ต้องการให้กระทรวงการคลังเข้ามาเพิ่มทุน หรือรัฐบาลต้องค้ำประกันเงินกู้
5.การหาแหล่งเงินใหม่ของไทยแอร์เอเชีย 6 พันล้านบาท จากการปรับโครงสร้างกิจการ และทุนของบริษัท โดยนำบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนที่บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือAAV และการดึงกลุ่มนักลงทุนใหม่มาปล่อยกู้ให้
นายธรรฐพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนมิ.ย.นี้เรื่องการปรับโครงสร้างบริษัทดังกล่าว โดยไทยแอร์เอเชีย จะได้รับเงินก้อนแรกเข้าในราวปลายเดือนมิ.ย.นี้ โดยเป็นเงินจากนักลงทุนซึ่งเป็นบุคคล และไม่ได้อยู่ในแวดวงการบิน ที่จะปล่อยกู้ให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย 3,150 ล้านบาท
โดยหลังจากนี้นักลงทุนจะสามารถแปลงสภาพสัญญาหุ้นกู้นี้ เป็นหุ้นสามัญของTAA ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะนำมาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในช่วง3ปีนี้
รวมถึงการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนครั้งแรก(IPO) รวมถึงการโอนหุ้นของผู้ถือหุ้นจากAAV มาอยู่ที่ไทยแอร์เอเชีย ในราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น ก็จะได้เงินอีกราว 2,757ล้านบาท รวมจำนวนเงิน 5,907 ล้านบาท ไม่รวม ESOP (การออกเเละเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้เเก่ผู้บริหารระดับสูงของ TAA)
ถือว่าเพียงพอที่จะทำให้ไทยแอร์เอเชียอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี
การนำไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นสิ่งที่เราอยากทำตั้งแต่ต้นแต่ทำไม่ได้เนื่องจากติดข้อกม.ในอดีตที่ระบุว่าผู้ถือหุ้นฝั่งไทยต้องเป็นบุคคลธรรมดา
แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขให้ทันสมัย ตอนนี้ไม่ต้องเป็นบุคคลธรรมดา แต่เป็นบริษัท หรือกองทุนของไทยก็ได้ ทำให้ไทยแอร์เอเชียมีความพร้อม เพราะที่ผ่านมา AAV เป็นแค่โฮลดิ้ง คอมพานี แต่การบริหารงานทั้งหมดก็อยู่ที่ไทยแอร์เอเชียอยู่แล้ว และการนำTAA เข้าตลาด ก็จะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย”
โดยหลังนำไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนใหม่ที่ปล่อยกู้ให้เราก็จะเข้ามาถือราวราว11% ผมถือหุ้นอยู่ราว16.4% แอร์เอเชียมาเลเซีย 45% กองทุนต่างๆ กลุ่มผู้ถือหุ้นAAV เดิมที่จะโอนมา และIPO ที่จะเกิดขึ้น แต่รวมแล้วก็ยังเป็นบริษัทไทย
“การปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นถือว่าดีกับทุกฝ่ายทั้งนักลงทุนใหม่ และผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มทุน (Dilution Effect) ครั้งนี้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการระดมทุนรูปแบบอื่นๆ
เพราะถ้าเราไปกู้เงินกับสถาบันการเงินก็มีภาระเรื่องดอกเบี้ย การจะรอซอฟต์โลนจากรัฐบาลถ้าได้ก็คงได้นานแล้ว ความอดทนรอเราก็มีจำกัด เพราะถ้ายังคงงอมืองอเท้ารออยู่บริษัทก็คงเจ๊งไปแล้ว”
ส่วนภาระหนี้ที่เรามีอยู่ราวหมื่นล้านบาทส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ยังไม่ได้ครบกำหนดชำระในช่วงนี้ และเรามีการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยืดหนี้ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี รวมถึงยังมีการเจรจาขอคืนเครื่องบินออกไป ซึ่ง ณ สิ้นปีนี้จะเหลือเครื่องบิน 54 ลำจาก60 ลำ
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก3 ที่ส่งผลให้ใช้เครื่องบินทำการบินได้เพียง 15 ลำจากก่อนหน้าบินอยู่ราวเกือบ 40 ลำ หรือหายไปกว่า 60% จากจำนวนผู้โดยสารในประเทศที่ลดลง แต่เราก็จะคุมการใช้จ่ายในแต่ละเดือนไม่เกินขาดทุนเกิน 200 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อรอให้การควบคุมการแพร่ระบาดในรอบนี้ได้
รวมถึงเงินที่เราจะได้เข้ามาก็จะนำมาใช้ในการกลับมาเปิดบินระหว่างประเทศที่คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ต้นปีหน้า ซึ่งปีหน้าเรามองว่าพยายามรักษาจุดคุ้มทุนให้ได้หรือขาดทุนน้อยที่สุด และน่าจะมีกำไรในปี66 เมื่อสามารถบินต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.กล่าวว่าปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศรวม 6 สนามบินของทอท.ล่าสุดลดต่ำลงเหลือวันละ2หมื่นคน
ทั้งคาดว่าในเดือนพ.ค.นี้จะลดลงถึงจุดต่ำสุดเพียงวันละ1.5 หมื่นคน ใกล้เคียงกับการระบาดระลอก 2 ช่วงเดือนม.ค.64 โดยขณะนี้สายการบินได้ทยอยปรับลดเที่ยวบินในประเทศลงต่อเนื่อง
ในส่วนของทอท.เองก็จะต้องเริ่มทยอยกู้เงินตั้งแต่เดือนต.ค.64 ซึ่งบอร์ดทอท.มติอนุมัติกรอบเงินกู้ให้ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยกู้
ล็อตแรกอาจจะไม่ถึง1หมื่น ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและค่าใช้จ่ายของพนักงาน
นายประมุข ไชยวรรณ ประธานกรรมการบริหารสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส กล่าวว่าที่ผ่านมาสายการบินได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลฯได้นัดหมายในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่
ส่วนกรณีที่สายการบินถูกกระทรวงคมนาคมเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศนั้น สายการบินเข้าใจว่า เพราะเราไม่ได้ทำการบินมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วจากผลกระทบของโควิด-19
รวมถึงได้คืนเครื่องบินทั้ง 12 ลำให้แก่ผู้เช่าไปแล้ว มีภาระหนี้กว่าพันล้านบาทจากการค้างค่าบริการต่างๆเช่นค่าสนามบิน มีการเลิกจ้างพนักงานไปร่วม 3 พันคน และยังค้างจ่ายค่าชดเชยพนักงานส่วนหนึ่งอยู่ โดยในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถทำการบินได้
เนืื่องจากผู้โดยสาร100%เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งสายการบินให้บริการแบบเช่าเหมาลำ โดยก่อนเกิดโควิดทำการบินเข้าจีนกว่า 20 เมือง
อย่างไรก็ตามถ้าศาลให้สายการบินฟื้นฟูกิจการ เราก็จะไปยื่นเรื่องเพื่อขอกลับมาประกอบการอีกครั้ง ซึ่งตามแผนที่วางไว้สายการบินจะมีทุนจากจีนเข้ามาร่วมลงทุน รวมถึงทางผู้ให้เช่าเครื่องบินก็พร้อมทยอยนำเครื่องบินกลับมาให้เราใช้ได้ต่อ ซึ่งมีการเจรจากันไว้แล้ว
โดยเมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ กว่าที่สายการบินจะกลับมาทำการบินอีกครั้งก็น่าจะเป็นช่วงไตรมาส2ปีหน้า ซึ่งถ้าจีนเปิดให้มีการเดินทางเที่ยวในประเทศ ธุรกิจของสายการบินก็จะกลับมาได้เหมือนเดิม
นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่าปัจจุบันจากดีมานต์การเดินทางที่ลดลง ทำให้สายการบินต้องลดปริมาณเที่ยวบินลงเหลือ 40-50% แต่ยังคงทำการบินทุกเส้นทางไว้อยู่
โดยพยายามรักษาอัตราการบรรทุกเฉลี่ยให้ได้ราว 50%ขึ้นไป เพื่อรักษาสภาพคล่อง เนื่องจากที่ผ่านมาสายการบินได้ลดค่าใช้จ่ายลงไปมากแล้ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน และการคืนเครื่องบินออกไปจนปัจจุบันเหลือเพียง 11 ลำ
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวเกี่ยวข้อง: