“เมอร์ค” แนะเทคนิคสกัดกัญชง-กัญชา

12 พ.ค. 2564 | 04:08 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2564 | 11:16 น.

“เมอร์ค” ชี้ ‘กัญชง-กัญชา’ เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ 2021 ทำรายได้ต่อกิโลหลักหมื่นแนะใช้อุปกรณ์วิเคราะห์สารสกัดกัญชง-กัญชา สร้างมูลค่าเพิ่ม

กัญชงและกัญชา กลายเป็นกระแสร้อนแรงทั้งในประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก ด้วยความที่เป็นพืชที่มีมูลค่าสูงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราวร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีกร้อยละ 40 เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ 

โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดกัญชาในประเทศไทยปี 2564 อยู่ที่ราว 3,600-7,200 ล้านบาท (ที่มา: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) หลังจากภาครัฐได้เปิดทางให้นำสารสกัดจาก CBD (Cannabidiol) สารแคนนาบิไดออล มาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมส่งเสริมให้กัญชงและกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 

ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่านักลงทุนต่างก็ให้ความสนใจต่อการเข้ามาของธุรกิจกัญชงและกัญชาเป็นอย่างมากหลากหลายอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ทั้งทางการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง เป็นต้น 

แต่การจะนำสารสกัดจากกัญชงและกัญชาไปใช้ได้ ต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานและปริมาณที่ภาครัฐกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าได้รับผลิตภัณฑ์กัญชงและกัญชาที่มีคุณภาพปลอดภัย บริษัท เมอร์ค จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจยา เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทางนวัตกรรม 

จึงจัดงานสัมมนาออนไลน์ Cannabis Testing The Series EP1 ไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับ กัญชงและกัญชา พร้อมชี้ทิศทางธุรกิจการใช้สารสกัดจากกัญชงและกัญชาในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ทุกอุตสาหกรรมพลาดไม่ได้ 

รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้หลายประเทศมีกฎหมายอนุญาตให้ใช้สารสกัดจาก CBD (Cannabidiol) สารแคนนาบิไดออล อย่างอิสระ เพราะสาร CBD มีสรรพคุณเหมือนพืชสมุนไพร ให้ฤทธิ์ผ่อนคลาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ ทำให้เส้นเลือดคลายตัวและเจริญอาหาร

“เมอร์ค” แนะเทคนิคสกัดกัญชง-กัญชา

แรกเริ่มสาร CBD จึงมีการนำมาใช้กับผู้ป่วย HIV และผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ในปัจจุบันสาร CBD ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (Personal care) และผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม (Cosmetic) ในทวีปยุโรป อเมริกา โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการอนุญาตนำสารสกัดกัญชา เช่น สารแคนนาบิไดออล หรือ CBD มาใช้ทางการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

และด้วยกฎหมายฉบับล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่สนับสนุนให้เกษตรกรไทยปลูกเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยงดเว้นการนำเข้ากัญชา-กัญชงจากประเทศอื่นเป็นระยะเวลา 5 ปี ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรมาลงทุนให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ด้วยระยะเวลาปลูกและเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 4 เดือน 

โดยกัญชงและกัญชากลายมาเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาสูง ทุกอย่างของกัญชงขายได้ ตั้งแต่ ต้น ดอก ใบ กิ่งก้าน จนถึงรากที่นำไปทำโสม กัญชงจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่น่าลงทุน ซึ่งตนมองว่าโมเดลของสาร CBD ในกัญชงจะถูกนำไปใช้เหมือนสารคาเฟอีนหรือวิตามิน กลายเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร แทรกซึมอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ในชีวิตประจำวัน

 สิ่งที่เกษตรกรและผู้ลงทุนปลูกกัญชงต้องทำอย่างเคร่งครัด คือการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย การนำกัญชงและกัญชามาใช้ในอุตสาหกรรมหรือในผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การตรวจปริมาณสารสกัดจาก CBD (Cannabidiol) สารแคนนาบิไดออล และ THC (Tetrahydrocannabinol) สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล 

โดยกฎหมายห้ามมีสาร THC เกิน 0.2% ดังนั้นการเลือกปลูกกัญชงจึงต้องเลือกสายพันธุ์ที่มี CBD สูง, THC ต่ำ โดยสามารถตรวจสอบขั้นต้นผ่านชุดตรวจที่ภาครัฐมีจำหน่ายหรือใช้วิธีส่ง Lab Test ก็กระทำได้ระยะเวลารอผลที่ 3-4 เดือน ซึ่งหากมองในแง่อุตสาหกรรมการมีชุดตรวจเป็นของตนเองทำให้คล่องตัว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันชุดตรวจปริมาณสารสกัดจาก CBD และ THC มีราคาไม่สูงอยู่ที่ราวๆ 20,000-25,000 บาท” 

ดร.วัฒนพงศ์ สิทธิเสรี ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ด้านโครมาโทรกราฟี บริษัท เมอร์ค จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “การวิเคราะห์สารสกัดกัญชงและกัญชาในผลิตภัณฑ์นั้น จะมีวิธีการตรวจสอบหลากหลายรูปแบบ วิธีการตรวจสอบหนึ่งที่เป็นมาตรฐาน คือ วิธีการตามตำรายาของประเทศไทย (Thai Pharmacopoeia method 2020) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

“เมอร์ค” แนะเทคนิคสกัดกัญชง-กัญชา

สำหรับ บริษัท เมอร์ค เป็นผู้นำเข้าเคมีภัณฑ์ วัสดุ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์สารสกัดกัญชง-กัญชา ที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมให้ความรู้และวิธีการวิเคราะห์ทดสอบสารสกัดและผลิตภัณฑ์กัญชงและกัญชาอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการตรวจวัดปริมาณสารสกัดจาก CBD (Cannabidiol) สารแคนนาบิไดออล และ THC (Tetrahydrocannabinol) สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล เพื่อให้ได้ค่ามาตรฐานตามกฎหมายและปลอดภัยสูงสุด

สำหรับวิธีการตรวจวัดปริมาณสารสกัดจาก CBD (Cannabidiol) สารแคนนาบิไดออล และ THC (Tetrahydrocannabinol) สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ทาง บริษัท เมอร์ค ได้นำเข้าเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ในการตรวจวัดปริมาณสารให้สอดรับกับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ

ระดับง่าย โดยใช้วิธีโครมาโทกราฟีแบบผิวบาง (Thin layer chromatography, TLC) ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก และประหยัด ไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ สามารถตรวจวัดปริมาณสารได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำในระดับหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่เงินทุนไม่สูงมาก แต่ต้องการตรวจเบื้องต้นก่อนส่งห้องปฏิบัติการ

ระดับกลาง เป็นการตรวจวัดปริมาณสารโดยวิธีโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (High performance liquid chromatography, HPLC) ซึ่งเป็นวิธีการที่ตรงตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการ เหมาะสำหรับห้องปฏิบัติการที่ใช้ตรวจวัดปริมาณสาร เนื่องจากวิธีการนี้เป็นวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการ

ระดับสูง เป็นการตรวจวัดปริมาณสารด้วยวิธีโครมาโทกราฟีของเหลวที่ต่อกับเครื่องวิเคราะห์มวลสาร (Liquid chromatography mass spectroscopy, LCMS) เป็นวิธีตรวจวัดปริมาณสารขั้นสูง เหมาะสำหรับห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ ให้ผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำสูงและน่าเชื่อถือ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์

“เมอร์ค” แนะเทคนิคสกัดกัญชง-กัญชา

นายจิรพันธ์ หล่อตระกูลชัย ผู้จัดการผลิตภัณฑ์สารมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ บริษัท เมอร์ค จำกัด กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า “เมอร์คได้เจรจาธุรกิจกับกลุ่มลูกค้ามาเป็นเวลา 3 ปี พร้อมทำการค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านการตรวจวิเคราะห์มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการวิเคราะห์สารสกัดกัญชงและกัญชาในผลิตภัณฑ์นับว่าเป็นธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นไฮไลต์ของเมอร์คที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

พร้อมแบ่งสัดส่วนลูกค้าไว้เป็น 2 กลุ่มหลักด้วยกัน คือกลุ่มภาครัฐ และภาคเอกชน โดยจะทำการโฟกัสไปที่กลุ่มธุรกิจเอกชนเป็นหลัก คาดว่าภายใน 1-2 ปี สัดส่วนการเติบโตของกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอกชนจะอยู่ที่ 90% พร้อมตั้งเป้าการเติบโตในส่วนธุรกิจนี้อยู่ที่ 100% สอดคล้องกับมูลค่าธุรกิจกัญชงและกัญชาที่เติบโตแบบก้าวกระโดด”

 นับว่ากัญชงและกัญชา เป็นอีกหนึ่งพืชทางเลือกที่น่าจับตามองในภาคอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยเองเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการอนุญาตนำสารสกัดกัญชาเข้ามาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อดึงศักยภาพของประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน และการนำสาร CBD เข้ามาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค 

โดยต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐาน และทดสอบการหาปริมาณสารสกัดจาก CBD (Cannabidiol) สารแคนนาบิไดออล และ THC (Tetrahydrocannabinol) สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ตามที่ภาครัฐกำหนด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: