ซีอีโอ‘นกแอร์’ กางแผนฟื้นฟู มั่นใจกลับมาแข็งแกร่ง

17 พ.ค. 2564 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2564 | 12:07 น.

นกแอร์ได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17พฤษภาคม 2564 ซึ่งทิศทางการดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูของสายการบินจะเป็นเช่นไร  ซีอีโอ นกแอร์ มีคำตอบ

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าหลังจากนกแอร์ได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าหน้าที่พนักงานพิทักษ์ไปแล้ว จากนั้นจะใช้เวลาอีกราว 1 เดือนในการจัดประชุมเจ้าหนี้ ซึ่ง ณ ตอนนี้เรามั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้มากกว่า 51% เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

มั่นใจเจ้าหนี้โหวตหนุน

นกแอร์มีเจ้าหนี้อยู่ราว 300-400 ราย มูลค่าหนี้ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ ณ วันที่ศาลล้มละลายกลางรับฟื้นฟูกิจการ แต่หนี้ดังกล่าวเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินได้รวมเอาหนี้ในอนาคตมาด้วย ดังนั้นหนี้จริงๆจะน้อยกว่านี้มาก โดยเจ้าหนี้หลักๆอันดับหนึ่งจะเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เงินกู้ ซึ่งก็คือผู้ถือรายใหญ่ของนกแอร์ อันดับสองจะเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน ส่วนเจ้าหนี้อื่นๆก็ถือว่าไม่มากนัก รวมแล้วจัดกลุ่มเจ้าหนี้ได้ราว 10 กว่ากลุ่มได้

ทั้งนี้นกแอร์มีเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินประมาณ 10 ราย เราเจรจาได้แล้วกว่า 80% โดยเจ้าหนี้ลดค่าเช่าเครื่องบินให้เรามากกว่า 40% เมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งในอดีตเมื่อเราเข้ามาดูก็พบว่านกแอร์จ่ายค่าเช่าสูงกว่าราคาตลาดมาก ก็มีการเจรจาค่าเช่าลงมาได้แล้ว และหนี้หลังจาก 4 พ.ย.63 ที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เรามีก็จ่ายค่าเช่ามาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปตามการเจรจาที่มีการตกลงกัน คือให้เราจ่ายค่าเช่าตามชั่วโมงที่ทำการบิน ถ้าบินก็จ่ายค่าเช่า ถ้าเครื่องบินที่จอดอยู่ก็จะไม่คิดค่าเช่า 

ซีอีโอ‘นกแอร์’ กางแผนฟื้นฟู มั่นใจกลับมาแข็งแกร่ง

นอกจากนี้นกแอร์ยังจะขอให้ศาลพิจารณาเรื่องการยกเลิกสัญญาการเช่าเครื่องบินก่อนหมดหมดสัญญา โดยจ่ายค่าชดเชยในมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) เนื่องจากนกแอร์จะมีการคืนเครื่องบินบางลำ จากปัจจุบันที่มีเครื่องบินจำนวน22ลำเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 373-800 จำนวน 14 ลำ  และ Q400 จำนวน 8 ลำ 

เช่าอีก 6 ลำขยายเน็ตเวิร์ค

ไม่เพียงการคืนเครื่องบินบางลำออกไปเท่านั้น ในส่วนของแผนขยายธุรกิจ เราก็วางแผนจะทยอยเช่าเครื่องบินเพิ่มขึ้นในช่วง 2-8 ปีนี้ ซึ่งเครื่องบินของนกแอร์จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ราว 4 ปีกว่า โดยในขณะนี้เราขอนำเครื่องบินโบอิ้ง 373-800 เข้ามาอีก 6 ลำในปี 64 เพื่อนำเครื่องรุ่นนี้มาทำการบินในบางเส้นทางที่ Q400 ทำการบินอยู่ รวมถึงการเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินเมืองรอง,บินข้ามภาค  ซึ่งได้วางแผนโปรโมทการท่องเที่ยวร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) และนำเครื่องQ400 ไปเปิดบินในเส้นทางเบตง 

ไม่เพียงแต่เส้นทางบินในประเทศ นกแอร์ ยังมองถึงการเปิดจุดบินระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประเทศของรัฐบาลหลังโควิด-19 คลี่คลาย การนำเครื่องทั้ง 6 ลำเข้ามาก็จะรองรับแผนดังกล่าวด้วย โดยมองว่าช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้หรือไตรมาส 1 ปีหน้า นกแอร์ทยอยกลับมาเปิดบินสู่ต่างประเทศ ซึ่งจุดแรกที่มองไว้คือจีน ซึ่งในอดีตนกแอร์เคยบินเข้าจีนถึง 30 กว่าเมือง แต่ในระยะแรกคงเปิดได้บางเมืองและต้องดูด้วยว่าตลาดจีนพร้อมให้เดินทางออกนอกประเทศแล้วหรือยัง 

ซีอีโอ‘นกแอร์’ กางแผนฟื้นฟู มั่นใจกลับมาแข็งแกร่ง

เส้นทางระหว่างประเทศที่มองไว้จะเป็นจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เมียนมา ไต้หวัน ตะวันออกกลาง อินโดนีเซียฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นทั้งจุดบินที่นกแอร์และนกสกู๊ตเคยบิน เพราะเรารู้จักเอเย่นต์ในตลาดเหล่านี้อยู่แล้ว รวมถึงจุดบินใหม่ๆ แต่ช่วงเวลาในการเปิดต้องดูสถานการณ์โควิดของประเทศต้นทางและของไทยประกอบด้วย

ในด้านการจำนวนพนักงานนั้นช่วง 30 ก.ค. 63 นกแอร์มีพนักงาน 1,400 กว่าคน ในเดือนส.ค. 63 มีเพิ่มขึ้นมา 1,512 คน ตอนมีอยู่ที่ราว 1,400 กว่าปลายๆไม่เกิน 1,500 คน เนื่องจากพนักงานส่วนหนึ่งอย่างลูกเรือก็เป็นพนักงานคอนแทค 3-5 ปี และพนักงานบางส่วนที่ไม่ยอมรับเรื่องของการลดเงินเดือน แต่เลือกให้บริษัทเลิกจ้าง ซึ่งที่ผ่านมามี 2 ล็อต ล็อตแรกหลักสิบกว่าคน ช่วงก่อนนกแอร์ฟื้นฟูกิจการ และล็อตที่ 2 คือล่าสุดจำนวน 16 คน เป็นกัปตันและผู้ช่วยนักบิน 

การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเพราะนกแอร์ต้องลดจำนวนเครื่องบินของฝูงบิน Q 400 ลงตามแผนการฟื้นฟูกิจการทำให้ต้องมีการลดนักบินในส่วนนี้ลง ซึ่งหากเทียบกับสายการบินอื่นนกแอร์ถือว่าลดเงินเดือนและเลิกจ้างพนักงานน้อยมาก เพราะเราต้องการรักษาพนักงานเอาไว้ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนฟื้นฟู และที่ผ่านมาการจ่ายค่าชดเชยนกแอร์ได้ส่งคำร้องขออนุญาตต่อศาล แต่ศาลไม่อนุญาต 

เพราะศาลคำนึงถึงเจ้าหนี้รายอื่นด้วย แต่คาดว่าเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการผ่านการเห็นชอบของเจ้าหนี้แล้ว นกแอร์จะได้รับอนุญาตจากศาลฯให้สามารถจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดให้พนักงานนกแอร์ทุกรายที่ถูกบอกเลิกจ้างได้ต่อไป

ซีอีโอ‘นกแอร์’ กางแผนฟื้นฟู มั่นใจกลับมาแข็งแกร่ง

 

ผนึกพันธมิตรเพิ่มรายได้

ในส่วนการเพิ่มรายได้ตามแผนฟื้นฟูจะเน้นการเพิ่มรายได้อื่นๆเพิ่มขึ้นนอกจากรายได้ที่มาจากการขายตั๋วเครื่องบิน ซึ่งนกแอร์ยังมีรายได้ในส่วนนี้น้อยมาก โดยเกือบ 90% เป็นรายได้จากการขายตั๋วเป็นหลัก แต่ต่อไปเราจะมีการเพิ่รายได้ในส่วนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นรถเช่า ประกันการเดินทางซึ่งจะเน้นร่วมมือกับพันธมิตรในการที่นกแอร์จะช่วยขายเพื่อเราจะได้ค่าคอมมิชั่นในส่วนนี้ โดยคาดว่าเมื่อเปิดประเทศน่าจะขยับรายได้ในส่วนอื่นๆเพิ่มได้อย่างน้อย15% รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรที่ทางกลุ่มจุฬางกุรถือหุ้นอยู่ อาทิ ช่อง 3 จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เพื่อขยายช่องทางการขายให้เพิ่มขึ้น

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้จะทำให้นกแอร์กลับมาแข็งแรงขึ้น จาก1.ผลประกอบการที่มีความมั่นคง สถานะการเงินก็จะดีขึ้น เพราะต้นทุนหลักอย่างค่าเช่าเครื่องบินลดลงไปมาก และเราก็มีการหาแหล่งเงินใหม่สำรองไว้กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินรองรับไว้ 3-5 ปีด้วย 2.สินค้าและบริการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นนอกจากการขายตั๋วเครื่องบิน รวมถึงการหารือพันธมิตรสายการบินทั้งการบินไทยและนกแอร์ เพื่อทำการบินรหัสร่วม (โค้ดแชร์) ร่วม ซึ่งลูกค้าก็จะได้รับบริการที่เดินทางได้สะดวกเพิ่มขึ้น 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564