"ล้งผลไม้" ห่วงล้นตลาด จังหวัดชุมพร เข้มโควิด

21 พ.ค. 2564 | 06:48 น.

“ล้งผลไม้” ระส่ำ หลัง “จังหวัดชุมพร” เข้มโควิด ห่วงล้นตลาดภาคใต้ ราคาตกต่ำ กระทบเกษตรกร ส่งสัญญาณรัฐผ่อนปรน

สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เตือนสถานการณ์ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนยอดส่งออกน้อยลงต่ำกว่า 300 ตู้ต่อวันแล้ว ในขณะที่ราคาขึ้นมาแบบพรวดพราด ทำให้การขายปลายทาง ปรับตัวแทบไม่ทัน หลาย “ล้งผลไม้” เริ่มหยุดกันไปบ้างแล้ว ปัจจุบันทุเรียนทางภาคใต้ได้ออกมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่ติดปัญหาสำคัญเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมหาศาล ที่จะอพยพจากภาคตะวันออกมาสู่ภาคใต้

 

ถ้าในสภาวะปกติคงไม่มีอะไรต้องคิด แต่ในสภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้ จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ในเรื่องมาตรการป้องกัน “โควิด-19”  จะมีหน่วยงานใด หรือองค์กร สมาคม ไหนๆมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้แรงงาน มาภาคใต้ได้อย่างปลอดภัย ปลอดจากเชื้อโรคใดๆ

 

ทางออก “การฉีด “วัคซีนโควิด” น่าจะสำคัญยวดยิ่ง เพราะตอนนี้ทางล้ง ทำได้ดีสุดคือการไปตรวจตามที่สาธารณะสุขได้กำหนดมา และทำได้เพียงฉีดยาฆ่าเชื้อผู้ที่เข้า - ออกล้ง และพื้นที่ล้งเท่านั้น  จำนวนเงินมหาศาล ที่ทางผู้ส่งออกได้นำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศชาติและได้หล่อเลี้ยงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน มังคุด ในภาคตะวันออกมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

 

หน้าที่ต่อไปคือการเคลื่อนทัพพ่อค้าลงมาทางภาคใต้ต่อจะทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ ด้วยลำพังเพียงผู้ส่งออกเอง คงไม่มีกำลัง อำนาจ พอในการจัดการเรื่อง โควิด19 ได้แน่ๆ ก็ขอฝากท่านผู้มีอำนาจในการจัดการบริหารเรื่องนี้ ยื่นมือเข้ามาจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วย เพื่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน มังคุด ในภาคใต้ต่อไป 

 

การคาดหมาย ทุเรียนน้อยลง ราคาทรงๆ  มังคุดไม่มาก  ทุเรียน ราคา AB 125 – 140 บาท/กิโลกรัม ส่วน ทุเรียน C ราคา  105 – 110 บาท/กิโลกรัม