‘ส่งออก’กู้ชีพ ค้ำยันเศรษฐกิจ ทั้งปีรายได้โตเกิน 6% แทนเครื่องจักรหลักอื่นดับสนิท

26 พ.ค. 2564 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2564 | 11:05 น.

ส่งออกไทยเครื่องร้อน ตัวเลขทำนิวไฮรายเดือน “จุรินทร์” สั่งลุยทุกช่องทาง ดันงานแสดงสินค้าไฮบริดตลอดปี ชูนวัตกรรมใหม่ มินิเอฟทีเอ เจาะตลาดเมืองรองจีน-อินเดีย พร้อมเร่งปั้น 1.2 หมื่นซีอีโอ Gen Z สร้างนักรบรุ่นใหม่ลุยค้าออนไลน์เจาะตลาดโลก

ปี 2563 โควิดระบาด เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐ และภาคการส่งออกสลบเหมือด ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบ 6.1% เช่นเดียวกับการส่งออกที่ติดลบ 6% มาปี 2564 โควิดปี 2 การส่งออก เป็นเครื่องยนต์เดียวที่พลิกกลับมาขยายตัว โดยตัวเลขเดือนเมษายนล่าสุดขยายตัวที่ 13% สูงสุดในรอบ 36 เดือนหรือรอบ 3 ปี (นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2561) ส่งผลให้ 4 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าส่งออกไทย ขยายตัวที่ 4.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และถ้าเทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2562 ที่เป็นปีฐานปกติก่อนเกิดโรคโควิดส่งออกไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 6 % แสดงให้เห็นว่า ส่งออกไทยฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ

“จุรินทร์”ชี้จาก 2 ปัจจัยหลัก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ผ่านรายการ THAN TALK ว่า การส่งออกไทยที่กลับมาขยายตัวดีขึ้นตามลำดับมาจาก 2 ปัจจัยหลัก 1.ปัจจัยจากต่างประเทศที่เศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัว 2.ปัจจัยจากการบริหารจัดการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการวางแผนร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เริ่มจากที่เข้ามารับตำแหน่งได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อแก้อุปสรรคด้านการส่งออกต่าง ๆ ให้ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วต่อมาคือการปรับบทบาทให้ทูตพาณิชย์ใน 50-60 สำนักงานทั่วโลกให้ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนขายสินค้าให้กับประเทศโดยมีรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าทีม

“ส่งออกไทยพ้นจุดตํ่าสุดมาแล้วตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ในเดือนมิถุนายนติดลบ 23% แต่พอเดือนกรกฎาคมปรับตัวดีขึ้นติดลบเหลือ -17% สิงหาคม -11% กันยายน -7% พอมาเดือนธันวาคมตัวเลขบวก กราฟขึ้นเป็นรูปตัวยู พอมาปีนี้มีนาคมปรับตัวดีขึ้นบวก 8.47% เดือนเมษายนล่าสุดบวกถึง 13% เพราะฉะนั้นตัวเลขจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งไม่ใช่ฝีมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนเดียว แต่เพราะทีมเซลล์แมนจังหวัด ทีมเซลล์แมนประเทศ และเพราะกรอ.พาณิชย์ ที่มีการตั้งกลไกจับมือร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดช่วยกันแก้ไขปัญหา”

ร่วมเอกชนแก้ปัญหาเชิงรุก

ขณะที่ได้ผลักดัน การส่งออก ร่วมกันอย่างชัดเจนในเชิงรุก ตัวอย่างเช่นปัญหาผู้ส่งออกมีปัญหาต้นทุนส่งออกเพิ่มเพราะต้องขนสินค้าลงเรือขนาดกลางและขนาดเล็กจากแหลมฉบังไปถ่ายสินค้าขึ้นเรือใหญ่ที่สิงคโปร์ รวมทั้งมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก ทางกระทรวงได้ทำงานร่วมกับการท่าเรือฯและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา โดยปลดล็อกให้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตรสามารถเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมเป็นวันแรกที่มีเรือขนาด 399 เมตรเทียบท่าที่แหลมฉบัง โดยขนตู้เปล่ามา 6,000 ทีอียู ช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกได้ 1.2 หมื่นล้านบาท

“ในช่วงนี้จะมีเรือเข้ามาเทียบท่าอีก 3 ลำ ในวันที่ 21 พ.ค. วันที่ 2 มิ.ย.และ 19 มิ.ย. ซึ่งจะช่วยขนตู้เปล่าเข้ามาได้ 6 พันถึง 1 หมื่นตู้ต่อลำ ซึ่งตรงนี้อยากสื่อให้คนไทยเห็นว่าเราได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทั้งนี้การส่งออกจะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของประเทศในสถานการณ์เช่นนี้ รอจนกว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมา และจะได้สองแรงบวกในอนาคต”

ยังไม่ปรับเป้าส่งออก

อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์ส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นมาก แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ปรับเป้าหมายอัตราการการขยายตัวของการส่งออกปี 2564 ที่เดิมตั้งเป้าไว้ที่ 4% เพราะเป้าหมายเป็นแค่ตัวเลข แต่การทำงานเชิงรุกจะปรับตัวตลอดเวลา โดยหลักคือต้องทำให้เกินเป้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะเป็น 5% 6% 7% 8% 9% 10% ก็ยิ่งดี ซึ่/งได้สั่งการเป็นนโยบายให้ทุกฝ่ายช่วยกัน

ขณะเดียวการค้าโลกยุคใหม่คู่ค้าต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับยุค New Normal โดยทางกระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ปรับรูปแบบช่องทางการตลาดในหลายรูปแบบ อาทิ การเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (OBM) ระหว่างผู้นำเข้า-ส่งออกรวม 120 กิจกรรมในปีนี้ นอกจากนี้ ได้มีการปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศ ไทยเป็นรูปแบบเสมือนจริง(Virtual Trade Fair) หรือรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) เพื่อให้เกิดการซื้อขายต่อเนื่อง

ส่งออกไทย

ลุยมินิ FTA เจาะจีน-อินเดีย

ขณะเดียวกันไทยต้องทำการค้าเชิงรุกเพื่อสร้างแต้มต่อให้ผู้ส่งออกไทยผ่านการทำความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ซึ่งนอกจาก RCEP (16 ประเทศ)ที่ไทยเป็นแกนนำในการเจรจาและลงนามจนสำเร็จ และรอเพียงการมีผลบังคับในปีนี้แล้ว ไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป(อียู) และเตรียมเจรจากับอังกฤษ รัสเซีย และกำลังเจรจากับกลุ่มยูเรเซีย

“ล่าสุดผมมีไอเดียนวัตกรรมใหม่ข้อตกลงการค้า และได้สั่งการเป็นนโยบายแล้วคือการจัดทำ Mini FTA กับประเทศใหญ่ที่เขามีรัฐหรือมณฑลที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศเรา หรือเกือบเท่าประเทศเรา เพื่อขยายโอกาสการค้า การลงทุนเชิงรุกให้ผู้ประกอบการไทยเพื่อเจาะตลาดเมืองรอง เริ่มต้นผมเจรจากับมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีนกับรัฐเตลังคานาของอินเดีย เป็นต้น ซึ่งการเจรจากับมณฑลหรือรัฐจะเจรจาได้รวดเร็วกว่าระดับประเทศ”

นายจุรินทร์ กล่าวช่วงท้ายว่า ยังได้เตรียมการในเรื่องการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการค้าโลกยุคใหม่ โดยการสร้างคนรุ่นใหม่ใน Gen Z ให้เป็นซีอีโอโดยนำนักศึกษาปี 3 ปี 4 ที่เรียนด้านธุรกิจ ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สนใจในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่งประเทศมาทำ MOU กับระทรวงพาณิชย์ แล้วเปิดการอบรมการทำการค้าออนไลน์ ที่สามารถนำมาวัดผลเป็นหน่วยกิตให้กับนักศึกษาที่จบหลักสูตร และต่อยอดไปใช้ได้จริงในอนาคตโดยมีเป้าหมาย 1.2 หมื่นคนในปีนี้ โดยคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญและจะเป็นทัพหน้าในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศในอนาคต 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง