การส่งออกของไทยช่วง 4 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 85,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.78%โดยการส่งออกเดือนเมษายนล่าสุดมีมูลค่า 21,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 13% ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือ รอบ 3 ปี (นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561)
ทั้งนี้การขยายตัวของการส่งออกไทยเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการส่งออกโลก ประกอบกับการส่งออกของไทยไปตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด และหลายตลาดขยายตัวในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความคืบหน้าในการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก
อย่างไรก็ดี ในตลาดที่มีศักยภาพสูงของไทย 13 ตลาด ช่วง 4 เดือนแรกตลาดไหนโตแรง และสินค้าใดขยายตัวได้ดีในแต่ละตลาดบ้าง จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์มีดังนี้
ตลาดจีนยังมาแรง โดยการส่งออกในเดือนเมษายน ขยายตัวสูงถึง 21.9% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อากาศยานและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ตลาดจีนขยายตัวถึง 21%
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 9% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 11.6%
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 2.7 % โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา และทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 5.3%
ตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัว 52.5%โดยขยายตัวเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 16.5%
ตลาดอาเซียน (5) ในเดือนเมษายนยังติดลบ 4.4% โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยานและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ติดลบ 8.7%
ตลาด CLMV ขยายตัวที่ 44.3% โดยขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งขึ้นจากเดือนก่อน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 8.6%
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวสูงถึง 149.9% โดยขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 28.5%
ตลาดอินเดีย ขยายตัวสูงถึง 193% โดยขยายตัวเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ทองแดง และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 30.2%
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 39.1% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 24.4%
ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว 65.7% โดยกลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศ ข้าว และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 10.3%
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 82.3% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 19.9%
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 50.1% โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และตู้เย็นและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 6.0%
และตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัว 25.3% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป ไขมันและน้ำมัน เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 14.1%
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค และกระทรวงพาณิชย์ยังมีกิจกรรมสนับสนุนการส่งอออก เช่น การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์ การเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าของไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง