ป.ป.ช.เงื้อดาบฟันทุจริตถุงมือยาง ยันผิดจริง-ให้โต้แย้งได้ใน 30 วัน

31 พ.ค. 2564 | 03:58 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2564 | 11:03 น.

 

งวดเข้ามาและใกล้กระชากหน้ากากขบวนการทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง มูลค่า 112,500 ล้านบาทของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มีการจ่ายเงินมัดจำค่าสินค้า 2,000 ล้านบาทให้กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัดไปแล้ว โดยที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. และพวกที่ถูกระบุอาศัยช่องโหว่ขณะทำหน้าที่รักษาการ ผอ.อคส. รีบร้อนในการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างถุงมือยาง สร้างความเสียหายให้กับรัฐมหาศาล ซึ่งมีผู้พัวพันตั้งแต่ระดับผู้บริหารระดับสูงยันเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 

ทั้งนี้หลังจากเกิดเรื่องนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยองค์การคลังสินค้า หรือ อคส.ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ได้เร่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น โดยมีนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งสรุปได้ว่า มีเจ้าหน้าที่ อคส. ซึ่งอยู่ในระดับนักบริหาร 8 จำนวน 2 ราย เกี่ยวข้องกับการกระทำของพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ที่มีพฤติกรรมใช้อำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการจัดซื้อถุงมือยางโดยมิชอบ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ อคส. และอนุมัติจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าไปถึง 2,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังตั้งคณะตรวจสอบขึ้นมาอีก 3 ชุดเพื่อสอบสวนและเอาผิดทางวินัย คือคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาความผิดที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อชี้โทษผู้กระทำผิด เช่น พักงาน หรือ ไล่ออก  และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดของเจ้าหน้าที่(หรือคณะกรรมการสอบละเมิด)  

โดยผลสอบของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ระบุว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ราย คือ พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ และเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร 8 อีก 2 ราย มีความผิดวินัยร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่างๆและยังเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

ป.ป.ช.เงื้อดาบฟันทุจริตถุงมือยาง ยันผิดจริง-ให้โต้แย้งได้ใน 30 วัน

ขณะที่ล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี อคส. จัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว พบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำความผิดจริง มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยมิชอบ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดทางอาญาไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ของ อคส. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้นัดให้มารับทราบข้อกล่าวหาในสัปดาห์นี้

สำหรับเจ้าหน้าที่ อคส. ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ได้แก่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการอคส., นักบริหารระดับ 8 อีก 2 ราย รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ที่เจ้าหน้าที่ อคส. ทั้ง 3 รายดังกล่าว ให้ข้อมูลว่าเป็นผู้สั่งให้ดำเนินการจัดซื้อถุงมือยาง ส่วนภาคเอกชน เช่น ผู้บริหารบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด คู่สัญญาของ อคส. ที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยางให้ อคส. เป็นต้น 

  ทั้งนี้ ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด สามารถส่งข้อมูลโต้แย้งข้อกล่าวหาได้ภายใน 30 วัน หากส่งข้อโต้แย้งมาแล้ว คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อโต้แย้งมีน้ำหนัก หรือสามารถหักล้างผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯได้ ก็จะไม่ชี้มูลความผิด แต่หากพบว่า ข้อโต้แย้งไม่มีน้ำหนัก หรือไม่สามารถหักล้างผลการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ ได้ ก็จะชี้มูลความผิดผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา จากนั้นจะส่งสำนวนคดีให้อัยการส่งฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อศาลต่อไป 

ส่วนความผิดของผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา ในส่วนเจ้าหน้าที่ อคส. จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 พนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 151 เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ โทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท รวมถึงมาตรา 157 เจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ หลังจากที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และส่งให้อัยการฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (ปปง.) จะอายัดเงินในบัญชีของบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ ที่ อคส. โอนเป็นค่ามัดจำสินค้า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีเงินเหลือในบัญชีเท่าไร   

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 08  ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564