“พาณิชย์”ช่วยร้านอาหารสู้โควิด เร่งคุยสถาบันการเงินปล่อยกู้

03 มิ.ย. 2564 | 05:04 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2564 | 05:07 น.

“พาณิชย์”เร่งช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร เข้าถึงเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เดินหน้าคุยกับสถาบันการเงิน หวังช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 นำร่องสัมมนาออนไลน์เพิ่มความรู้ก่อนกู้ ก่อนเปิดเจรจาจับคู่ 7-20 มิ.ย.นี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานสถาบันการเงินจัดแคมเปญเฉพาะกิจเพื่อปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยได้รับความร่วมมือจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อลดผลกระทบ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้นแล้ว

“พาณิชย์”ช่วยร้านอาหารสู้โควิด  เร่งคุยสถาบันการเงินปล่อยกู้

 สำหรับแคมเปญพิเศษดังกล่าว ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1.การจัดสัมมนาออนไลน์ เป็นการให้ความรู้ผู้ประกอบการเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยกิจกรรมนี้ ได้จัดไปแล้วในวันที่ 1 และ 2 มิ.ย.2564 และจะมีอีกครั้งวันที่ 4 มิ.ย.2564 ผ่านทาง Facebook Group บสย. (https://bit.ly/3bCcbw2) และสามารถรับชมย้อนหลังได้ 2.กิจกรรม Matching เป็นการเจรจาขอสินเชื่อพร้อมยื่นเอกสารตามเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-20 มิ.ย.2564 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น.

“ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจเข้าร่วมแคมเปญพิเศษนี้ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินจะมีเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกัน และมีสินเชื่อหลากหลายประเภท ซึ่งสินเชื่อแต่ละประเภทจะมีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละรายที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องศึกษารายละเอียด เตรียมความพร้อม และขอรับคำปรึกษาการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยสะดวกมากขึ้น”

 ทั้งนี้ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค.2564 ประเทศไทยมีผู้ประกอบการร้านอาหารในระบบทั้งสิ้น จำนวน 118,967 ราย แบ่งเป็น นิติบุคคล 15,967 ราย คิดเป็น 13.43% และบุคคลธรรมดา 103,000 ราย คิดเป็น 86.57%