นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ ว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ในช่วงการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต่อทิศทางการพัฒนาการค้าของไทย หลังจากที่ได้กำหนดกลุ่มสินค้าและบริการเป้าหมายในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร 2. กลุ่มสาขาบริการสุขภาพ Health & Wellness 3. กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และ 4. กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยมีขีดความสามารถ ทั้งในด้านการผลิต ความพร้อมในการให้บริการ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นกลุ่มที่เป็นอนาคตของประเทศ
ทั้งนี้เดิม สนค. ได้กำหนดลงพื้นที่รวม 5 ภูมิภาค ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนกำหนดการทั้งหมด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้ที่จะเข้ามาให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จึงได้ปรับแผนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ เป็นการประชุมแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยขณะนี้เริ่มดำเนินการรับฟังความความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาคแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งจะมีการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารภาครัฐและเอกชนด้วย ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นร่างทิศทางการค้าในระยะ 5 ปี ในเดือนมิถุนายนนี้
สำหรับ 4 กลุ่มเป้าหมายที่ สนค. คัดเลือกมาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าไทย เนื่องจากเห็นว่าเป็นกลุ่มที่สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลก ทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยี ห่วงโซ่มูลค่าโลก การเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือแม้แต่ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และไทยยังมีจุดแข็ง มีโอกาส ตลอดจนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ อีกทั้งยังเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เช่น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve & new S-Curve) และ BCG Economy เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาด้านการค้าของประเทศ พร้อมด้วยแนวทางการขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารของไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นของไทย โดยไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ มีวัตถุดิบที่เพียบพร้อม เป็นครัวของโลก และยังเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถผลิตอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้ทุกกลุ่มผู้บริโภค โดยในการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าในเรื่องนี้ ก็ต้องมองว่า ไทยจะมีจุดยืนอย่างไร สินค้าไหนที่เป็นสินค้าดาวรุ่ง และควรจะมุ่งไปในทิศทางไหน
ด้านบริการสุขภาพ ปัจจุบันไทยมีบริการที่หลากหลาย ทั้งด้านการดูแลสุขภาพและความเจ็บป่วย มีบริการด้านความงาม การดูแลสุขภาพ บริการด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องมาวางแผนล่วงหน้าว่า เมื่อสถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้นแล้ว จะผลักดันให้ไทยมีความโดดเด่นในเรื่องบริการสุขภาพอย่างไร เพราะกระแสโลกมีการเติบโตมาก คาดว่า ตลาดบริการด้านสุขภาพ จะมีมูลค่าสูงถึง 42,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2569 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2564-69 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของโรคต่างๆ
ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่มีแนวโน้มเติบโต และนโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economy ซึ่งไทยจะต้องมีจุดยืนและนโยบายในการขับเคลื่อน ทั้งการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการแพทย์เพื่อสุขภาพ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่เป็นอนาคตของประเทศ
ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ เพราะปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องวางแผนในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย เช่น e-Commerce , ดิจิทัลคอนเทนต์ และคลาวคอมพิวติ้ง เป็นต้น