จาก ผลกระทบของโควิด-19 ระลอก3 ซ้ำเติม ธุรกิจท่องเที่ยว ที่ย่ำแย่อยู่แล้วกำลังจะขาดใจตาย ประกอบกับ มาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ โดยเฉพาะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ในช่วงที่ผ่านมาการช่วยเหลือยังไม่ตรงจุด ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นเอสเอ็มอี ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ส่งผลต้องดิ้นรนกันต่อไปเพื่อความอยู่รอด โดย 5 สมาคมท่องเที่ยว อยู่ระหว่างหารือเพื่อเสนอมาตรการความช่วยเหลือครั้งใหม่ ผ่านไปยังนายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว
นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าที่ผ่านมาธุรกิจนำเที่ยวโดยเฉพาะทัวร์อินบาวด์ (นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย) มีทั้งที่ต้องปิดกิจการแบบถาวรและปิดชั่วคราว 100% ประกอบกับที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามมาตรการเยียวยาของภาครัฐได้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีผลประกอบการขาดทุน ประกอบกับเป็นธุรกิจที่จะไม่สามารถสร้างรายได้อย่างแน่นอนในช่วง2-3ปีนี้ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้
แอตต้า จึงต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุน การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว และมีการตั้งผู้บริหารกองทุน เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการได้ เนื่องจากเมื่อประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งบริษัททัวร์และไกด์ก็พร้อมกลับมาทำงานได้
เบื้องต้นการตั้งกองทุนนี้ ได้หารือในส่วนของธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์แล้ว คาดว่าจะขอรัฐสนับสนุนวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันแอตต้าจะหารือร่วมกับสมาคมต่างๆด้วยไม่ว่าจะเป็นสมาคมสปาไทย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงสมาคมโรงแรมไทยด้วย ว่าเห็นด้วยต่อการร่วมกันจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูท่องเที่ยวด้วยหรือไม่ เพื่อขยายการตั้งกองทุนให้ครอบคลุม
รวมไปถึงการเสนอเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างภาษีภาคการท่องเที่ยว ซึ่งควรปรับให้ทันสมัย ไม่มีความซ้ำซ้อน และต้องการขอให้ได้รับการส่งเสริมด้านภาษีเป็นกรณีพิเศษ เหมือนที่บีโอไอ ให้การสนับสนุนผู้ส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ ขอสนับสนุนโค-เปย์ ให้รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน การขอพักต้น พักดอกซอฟต์โลน เป็นต้น โดย ทั้ง 5 สมาคมจะนำเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการประชุมร่วมกันวันที่ 9 มิถุนายนนี้
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมโรงแรมต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากในขณะนี้ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างแรงงานคนครึ่งร่วมกับผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม ฝั่งละ 7,500 บาทต่อเดือน สำหรับค่าจ้างแรงงานไม่เกิน15,000 บาทต่อเดือน จากพนักงานโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องที่มีทั้งหมดราว4.5 แสนคน หรือ โค-เปย์เม้นท์ เพราะแม้โรงแรมจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แต่ก็ได้รับผลกระทบมาก จากต้นทุนที่สูงมากโดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน ซึ่งตอนนี้แทบไม่ไหวกันแล้ว จนมีการทยอยปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้น
โดยวันนี้โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพียง51%ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด มีโรงแรมเปิดให้บริการอยู่เพียง38% และอีก41%เปิดกิจการเป็นบางส่วน ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนโคเพย์เม้นท์เพื่อช่วยจ่ายให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีก็ควรมองถึงธุรกิจโรงแรมด้วย เพราะมีการจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก และได้รับผลกระทบมากเช่นกัน
2.ขอให้มีการจัดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่อื่นๆนอกเหนือจากภูเก็ต เพื่อให้เข้าตามมาตรฐานSHA Plus ในการสร้างจุดขายในการเปิดรับนักทอ่งเที่ยวต่างชาติ 3.ขอให้พิจารณาถึงการลดจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางออกจากภูเก็ตได้จาก 14 วันเหลือ7วัน 4.ขอให้มีการเร่งการฉีดวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ด้านนายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่าทางสมาคมฯ จะเสนอรมว.ท่องเที่ยวใน 2 เรื่องหลักเพื่อฟื้นฟูธุรกิจสปา ได้แก่
1.การขอให้รัฐสนับสนุนมาตรการโค-เพย์เม้นท์ เรื่องของการจ้างแรงงาน โดยต้องการให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน 50% เพราะธุรกิจสปาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นธุรกิจที่ยังจะเดินต่อได้หากมีการรักษาการจ้างได้ ซึ่งธุรกิจสปาและนวดแผนไทย มีผู้ประกอบการทั่วประเทศอยู่ที่ 9 พันราย(เฉพาะที่มีใบอนุญาต)มีพนักงานกว่า 1.2 แสนคน ที่ผ่านมาทยอยปิดกิจการไปกว่า 70% แล้ว แต่ธุรกิจที่ยังเปิดอยู่ก็อยากให้รัฐสนับสนุนค่าจ้างให้คนละครึ่งร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้
2.ขอให้มีการจัดสรรวัคซีนให้แก่พนักงานสปาและนวดแพทย์ไทย เพื่อให้กลับมาบริการได้อย่างมั่นใจทั้งลูกค้าและพนักงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าได้มีการหารือกับแอตต้า ซึ่งเสนออยากให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูและรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว โดยให้ไปรวบรวมมา ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร รวมถึงจะหารือกับสมาคมต่างๆในการท่องเที่ยวด้วย เพื่อจะนำไปหารือกับกระทรวงการคลัง ในการใช้เงินกรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ว่า มีช่องว่างหรือความเป็นไปได้ตรงไหน ที่จะช่วยเสริมสภาพให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้
ขณะที่นายสร้างสรร ทองตัน นายกสมาคมพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต กล่าวว่า เบื้องต้นมีสมาชิก 270 ราย ต้องการทุนเพื่อกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง หลังปิดบริการไป 90% ซึ่งจะยื่นเสนอภาครัฐและสถาบันการเงินเพื่อขอใช้บริการสินเชื่อฟื้นฟู โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง