นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความพยายามของผมทั้งชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหายางพาราไทย เสียสละเวลา ทุนทรัพย์ แม้กระทั่งความสุขในครอบครัว ตั้งใจว่าจะสร้างสังคมตื่นรู้ในหมู่กลุ่มชาวสวนยาง เพราะต่อสู้มาถึงทุกวันนี้ จนชาวสวนยางมีเครื่องมือที่ดีกว่าพืชอื่น คือ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ฝันสูงสุดของผมคือชาวสวนยางจัดการตนเองให้พืชอื่นได้เห็นเป็นแบบอย่าง เป็นกลยุทธ์ทำศึกให้ทะลุสักแนว
ทำจากกลุ่มเล็กๆ ในนามสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เหมือนเครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วไป ที่ไม่อยากทำแนวกว้าง การทำแนวลึกไม่เหนื่อยมาก ไม่ต้องปวดหัวที่ต้องอดทนกับมวลชนที่ยังล้าหลัง พอผมมาทำแนวกว้างในนามสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย มวลชนกว้างขึ้น หลากหลายมากขึ้น ต้นทุนทางองค์ความรู้แต่และคนไม่เท่ากัน เป็นจริงครับ ต้องเหนื่อยหนักมาก อธิบาย ไป 10 ต้องถอยกลับมา 1 เพื่อรอคอยคนที่ตามไม่ทัน บางคนอ่านแค่ 4 บรรทัดจริงๆ
นายสุนทร กล่าวว่า ผมพยายามสร้างคนรุ่นใหม่มาสืบทอดอุดมการณ์ แต่หลายคนถอดใจ อดทนไม่พอ และบอกว่าธุระไม่ใช่ เพราะพี่น้องชาวสวนยาง ไม่แตกต่างจากเกษตรกรทั่วไป ติดกับดักระบบอุปถัมภ์ รอให้คนอื่นช่วยเหลือ ไม่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง อยากได้ความสุขสำเร็จรูป พอไม่ได้ดั่งใจก็บ่นและกล่าวโทษผู้อื่น ที่อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย
“พี่น้องชาวสวนยางส่วนใหญ่หวังพึ่งพารายได้จากการขายยางเพียงอย่างเดียว ด้วยเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว ชีวิตจึงทนทุกข์อยู่ในวังวนของราคายางที่ผันผวน มีหนี้สิน รายได้ไม่พอรายจ่าย สุขภาพย่ำแย่ ทำงานหนักให้นายทุนร่ำรวย แต่ตัวเองกลับยากจนลงทุกวัน จนแทบจะรักษาสวนยางเอาไว้ไม่ได้”
“สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย” เห็นปัญหานี้อย่างชัดแจ้ง เรามีงานวิจัยที่ให้คำตอบได้ว่าปัญหาราคายางไม่มีรัฐบาลไหนแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยฝีมือของตัวเอง ราคายางขึ้นลงตามกลไกตลาดที่ไม่เคยมีความเป็นธรรม บางช่วงราคายางสูงเพราะปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น เช่น ราคาน้ำมันดิบ เศรษฐกิจโลก รวมทั้งความต้องการใช้ยางธรรมชาติที่มากขึ้นด้วยปัจจัยอื่น เช่น จีนเปิดประเทศในอดีต หรือแม้กระทั่งสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่ทำให้ความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น
พวกเราเคยต่อสู้เรียกร้องราคายาง ชุมนุมประท้วง ปิดถนน เราทำมาหมดแล้ว แกนนำถูกดำเนินคดี และพี่น้องชาวสวนยางก็ไม่เคยได้ราคายางที่สูงขึ้น พวกเราจึงตกผลึกทางความคิดว่าจะต้องแสวงหาหาหนทางใหม่ ที่ไม่ใช่วิธีการเดิมๆ ให้ผลของการต่อสู้พี่น้องสามารถกินได้ สัมผัสได้ และมีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง โดยชูประเด็นชัดเจน #ปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางอยู่ที่รายได้ไม่ใช่ราคา
“เราจึงชักชวนให้พี่น้องทำสวนยางยั่งยืน ทำเรื่องสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง สิทธิคนกรีดยาง และที่สำคัญคือการแก้ปัญหาชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์(บัตรสีชมพู) กว่า 6 ล้านไร่ 400,000 ราย จนผลักดันให้พี่น้องกลุ่มนี้เข้าถึงนโยบายและมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น โครงการประกันรายได้ การเยียวยาผลกระทบจากโควิด เพราะที่ผ่านมาพี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ มิหนำซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า”
เรายังต่อสู้ผลักดันเพื่อให้พี่น้องชาวสวนยางบัตรสีชมพู สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้(บัตรสีเขียว) เพื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เท่าเทียมกัน และการแก้ไขปัญหาสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ภายใต้มติ ครม.26 พฤศจิกายน 2561 เพื่อให้พี่น้องอาศัยและทำกินในที่ดินทับซ้อนป่าไม้ ยุติปัญหาขัดแย้งกับรัฐ เมื่อมีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ ก็สามารถขอรับทุนสนับสนุนการปลูกแทนกับการยางแห่งประเทศไทยได้
ประเด็นเรื่องราคายางเป็นหลักการ ว่าพวกเราไม่อยากสู้ เพราะ ไม่ถนัด ไม่เก่ง จึงเรียกร้องหาคนที่มีความสามารถมาช่วยกันหาทางออก แต่เราก็จะใช้ชุดความคิดสวนยางยั่งยืนแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หากพี่น้องชาวสวนยางมีรายได้อื่นจากสวนยางเพียงพอ เราประกาศหยุดกรีดทั้งประเทศ ถ้าเป็นสวนยางเชิงเดี่ยวจะไม่สามารถทำได้ จะทำให้ไทยจะมีอิทธิพลชี้นำราคายางยางโลกได้จริง เพราะเราถอดบทเรียนแล้วว่า ชุดความคิดเดิมๆ การแทรกแซงราคายาง แปรรูปยางเพื่อมูลค่า การใช้ยางในประเทศ มันไม่เวิร์คและไปไม่ถึงไหน อาจเป็นวิธีที่ถูกต้องครับ แต่ช้าไม่ทันการ มาเลเซียและทั่วโลก ไปไกลแล้ว แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
นายสุนทร กล่าวว่า เมื่อวานผมทดลองสร้างกระแส เสนอความคิดแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางสดดิ่งเหว ด้วยการให้ชาวสวนยางหยุดขายน้ำยาง 1 เดือน โดยเปลี่ยนมาทำยางก้อนถ้วย แม้ราคาจะถูกกว่าน้ำยางสด แต่ก็เป็นยุทธวิธีในการต่อสู้เพื่อไม่ให้พ่อค้าและโรงงานฉวยโอกาสเอาสถานการณ์โควิดมาอ้างเพื่อกดราคายาง ทั้งนี้การยางแห่งประเทศไทยพยายามทุกวิถีทางเพื่อสกัดการทุบราคา แต่ทำได้ระดับหนึ่งจนตึงมือ เพราะมีเงื่อนไขจำกัด ผมก็เลยใช้ชุดความคิดใหม่ โดยแสวงหาความร่วมมือจากพี่น้องชาวสวนยางที่ขายน้ำยางสด เพราะไม่มีการแก้ปัญหาใดที่จะมีประสิทธิผลเท่ากับผู้เดือดร้อนคือชาวสวนยางกระโดดลงมาเล่นด้วย
แต่ผมประเมินแล้วยากครับการเปลี่ยนแปลงความคิดคนและการเรียกร้องให้เสียสละ เพราะพี่น้องชาวสวนยางมีคำถาม มากมาย ข้ออ้างมากมาย ตัวอย่างเช่น ถ้าทำยางก้อนถ้วยที่สวนยางจะถูกขโมย ผมเลยเสนอให้ทำที่บ้าน ทำง่ายใส่แม่พิมพ์ก็ได้ บางคนบอกทำว่าที่บ้านมันเหม็น บางคนบอกว่ายางก้อนถ้วยแบบนี้พ่อค้าไม่ซื้อบ้าง จะผลิตที่บ้านหรือที่สวนยาง พ่อค้าเขาซื้อหมด ตัดให้เป็นชิ้นเล็กลง ตากให้แห้ง เป็นยางก้อนถ้วยแห้ง DRC 75% ราคาประมาณ 33-35 บาท แค่อย่าเติมน้ำจนกลายเป็นยางเต้าหู้ พ่อค้าเขาไม่โง่ครับ โยนยางให้เด้งเขาก็รู้แระ
ส่วนใหญ่บอกว่าทำยางก้อนถ้วยแล้วจะเอาอะไรกิน ผมเลยบอกว่า กยท.มีกลไกโครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วยรองรับ สามารถเบิกเงินจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการไปใช้ก่อน ถึง 80% กยท.อนุมัติงบประมาณรอไว้แล้ว เหลือเพียงแต่ชาวสวนยางต้องบอกให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนที่ท่านเป็นสมาชิก ไปสมัครกับ กยท.
บางคนบอกว่าโง่ไหมเปลี่ยนจากการขายน้ำยางสดมาทำขี้ยาง โง่หรือปล่าวผมไม่ทราบแต่ราคาขี้ยางตอนนี้ 44 ราคาน้ำยางสด 48 ถ้าไม่หยุดเลือดวันนี้ อาจไปถึง 3 โลร้อย ถูกกว่าขี้อีก และที่สำคัญการเสียสละช่วยลด Supply น้ำยางสด เพื่อให้บทเรียนพ่อค้าและโรงงาน เราทำแค่ชั่วคราว 1 เดือน พอราคาน้ำยางสดสูงขึ้นเราก็ไปขายตามเดิม ช่วงไหนกลไกตลาดบิดเบี้ยวอีกเราก็ทำอีก
ในขณะที่การรับซื้อน้ำยางสดส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ แต่ยางก้อนถ้วยอยู่เหนือและอีสาน หลายคนกังวลว่ายุทธวิธีอาจทำให้ราคายางก้อนถ้วยอาจตกต่ำลงไปอีก ก็อาจมีผลกระทบบ้างครับ เพราะไม่มีการตัดสินใจใดที่จะไม่มีผลกระทบอะไรเลย แต่แค่ชั่วคราว และมีโครงการชะลอการขายขายยางก้อนถ้วยที่สำเร็จในภาคเหนือเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว งบประมาณจาก กยท.ก็มีเพียงพอแล้ว จะกังงวลอะไรอีก การเสียสละครั้งนี้ผมไม่เห็นพี่น้องชาวสวนยางภาคเหนือและอีสานบ่นอะไรเลย เขากลับพร้อมที่จะเสียสละเพื่อให้ราคายางภาพรวมสูงขึ้น
สังคมภาคใต้(อันนี้ผมด่าตัวเอง) เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรม #กูว่าแล้ว จะให้ทำอะไร เปลี่ยนแปลงอะไร ยากเย็นแสนเข็ญ แบบหัวไอ้เรือง คิดมาก พูดเยอะ จนไม่ได้ทำอะไร นั่งรูดท่อม กินกาแคว นินทาเพื่อน หากเพื่อนทำแล้วสำเร็จจะเงียบ เด่วเสียเหลี่ยม แต่ถ้าเพื่อนพลาดขึ้นมา ปรือล่ะเห็นมะ #กูว่าแล้ว
มีคอท่อมบางวง หวนท่อมเสร็จนั่งนินทาสุนทรกันมันปาก มันขาดหุ้นหม้ายเอาน้ำยางสดมาทำขี้ยาง กุว่าเหม่อนิ สงสัยไม่บายไอ้บาวนี่ แต่หารู้ไม่ ท่อมที่รูดที่เคี้ยวน่ะ จะถูกกฎหมายในวันที่ 24 สิงหาคม ก็สุนทรคนนี้แหละ เป็นอนุกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฏร ปลดล็อกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด 555
พอพี่น้องชาวสวนยางมีข้ออ้าง ผมก็ดักทุกทาง อุดทุกรู #อย่ามาเหลียมเรามาบอย พอไปไม่เป็นก็โกรธ ที่นี้ก็หันมาด่าเรา ทำไมชาวสวนยางต้องทำ ต้องปรับตัว เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและการยางแห่งประเทศไทยที่ต้องแก้ไขปัญหา แล้วจะมาเป็นตัวแทนทำไม บลาๆ แต่ผมใจเย็น สุดท้ายสารภาพตรงๆว่าไม่อยากเหนื่อย ใช้ให้สุนทรไปบีบคอรัฐบาลดีกว่า 555
แต่ขอขอบคุณพี่น้องชาวสวนยางที่ให้ความร่วมมือ บางคนเสนอทางออกน่ารักมาก เข้ายุคสมัยคนละครึ่ง คือขอขายน้ำยางสดครึ่งหนึ่ง และทำยางก้อนถ้วยครึ่งหนึ่ง บางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเร่งรับซื้อน้ำยางสดแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ในราคาสูงกว่าตลาด เช่นในตลาดท้องถิ่นซื้อน้ำยางสด 48 บาท สถาบันซื้อ 52 เพราะเขาให้เหตุผลว่ายางแผ่นมีส่วนต่างเกือบ 10 บาท อย่างไรก็กำไร ทำไมต้องเอาเปรียบพี่น้องชาวสวนยาง ดีใจที่ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหา
พูดมายืดยาว อย่าคิดว่าสุนทรจะท้อถอยนะ 555 ปัญหาและอุปสรรคคือยาชูกำลัง เพราะชีวิตนี้ผมอุทิศแล้ว เพื่อปลดปล่อยชาวสวนยางจากหุบเหวแห่งความทุกข์ เพียงแต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าพี่น้องชาวสวนยางไม่ให้ความร่วมมือและเสียสละ การศึกชนะจะได้ก็ด้วยความสามัคคีและมีวินัยปฏิบัติตามแผนยุทธวิธี ที่สอดรับคล้องจองอย่างลงตัว
ที่สำคัญหากพี่น้องชาวสวนยางไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง และพึ่งพาตนเองตามศาสตร์พระราชา ท่านไม่มีวันหลุดพ้นจากลัทธิทำแทนจากนักการเมือง ที่เอายางพารามาเป็นพืชทางการเมืองเพื่อหาเสียง ขายฝัน เราก็เชื่อ แต่พอเราลำบาก เขาก็พูดแต่เรื่องการรักษาอำนาจของตัวเอง แต่ไม่เคยลงมายืนหยัดเคียงข้างชาวสวนยาง ยามทุกข์ยากและเดือดร้อน
อย่าใช้แกนนำให้ตายกันไปข้างหนึ่ง จงช่วยกันสร้างแกนนำรุ่นใหม่ที่มีคุณธรรมและคุณภาพ เพื่อมาทดแทนพวกผมด้วย เพราะพวกเราก็แก่ลงทุกวัน ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ เช่น 4 ทหารเสือการยาง บอร์ดสังข์เวิน ทวดห้อย บอร์ดสง่า ขันคำ บอร์ดอรอนงค์ อารินวงศ์ และผม อีกทั้งยังมี อาจารย์สวัสดิ์ ลาดปาละ พี่เขศักดิ์ สุดสวาท พี่ประสิทธิ คุณประสาท พี่ประยุรสิทธิ์ คณานุรักษ์ พี่ทรงวุฒิ ดำรงกุล พี่บุญส่ง นับทอง พี่สุวิทย์ ทองหอม พี่กรีรัตน์ ทองใส พี่ทศพล ขวัญรอด พี่ศิวะ ศรีชาย และยังมีอีกหลายท่าน ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ
อย่างไรก็ดี #ไม่เสียสละชัยชนะไม่เกิด ถ้าเห็นด้วยช่วยกันแชร์นะครับ จะได้เป็นวิทยาทานให้ผู้อื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง