ผ่าความคิด กู้วิกฤติข้าวไทย

22 มิ.ย. 2564 | 04:15 น.

​​​​​​​4 กูรูข้าว โชว์วิสัยทัศน์  กู้วิกฤติข้าวไทย ประสานเสียงลั่น  ต้องผ่าตัดครั้งใหญ่ ดึงชาวนาพ้นกับดักประชานิยม  ทุ่มงบเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวแข่ง “สุเทพ” ค้านลดพื้นที่ทำนา ผวานำเข้าข้าวต่างประเทศ

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

เริ่มจาก รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (TDRI) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงปัญหาข้าวหอมมะลิในตลาดโลกขายไม่ออก ซื้อขาดทุน ปัญหาก็คือเวลา ตลาดข้าวในโลกมีมาก ประเทศไทยแข่งขนไม่ได้ ผลผลิตมาก แต่ราคาสู้ไม่ได้ ผู้ส่งออกพูดเลยว่า ตั้งแต่ตอนต้นฤดู เก็บเกี่ยวใหม่ ประเมินสถานการณ์ส่งออกแย่มาก ปีที่แล้วส่งออกลดลง 4 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย. ต่ำมาก ผมเพิ่งดูตัวเลข ยอมรับว่าสู้ต่างชาติไม่ได้แล้ว ผลผลิตมีมาก ราคาข้าวต่ำ แล้วต้นทุนสูง

 

“ปัญหาในเรื่องราคาข้าว” ไม่มีทางแก้ได้ เพราะเป็นปัญหาราคาตลาดโลก คุณขายแพงใครก็ไม่ซื้อ อินเดีย เอาข้าวไฮบริด ออกมาขาย ผลผลิตมาก แต่ไม่ใช่ข้าวหอม แต่ข้าวหอมมะลิ แข่งกับเวียดนาม ซึ่งข้าวเวียดนามก็ถูกกว่าเรา แล้วอนาคตจะไปแข่งสินค้าคอมมิวดีตี้ไม่ได้ ต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องระยะกลาง และระยะยาว ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น

 

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้นผู้ส่งออกก็ปรับตัว เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรียกว่าทำทุกอย่าง แม้กระทั่งขายข้าวให้เงินกู้กับคนซื้อข้าว ให้สินเชื่อนะไม่ใช่เปิดแอลซี มีอย่างที่ไหน หากคนซื้อเบี้ยว ตายเลย นี่ทำถึงขนาดนี้ ทำทุกอย่างแล้ว เห็นแล้วต้นทุนแพงปรับขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เพื่อนบ้านต้นทุนต่ำกว่ามาก และราคาตลาดโลกก็เป็นราคาอย่างนี้จะต้องขายในราคาที่สู้กับคู่แข่งได้ เพราะถ้าราคาแพงมากก็หันไปซื้อประเทศอื่น

 

รศ.ดร.นิพนธ์  กล่าว่า ในเรื่องแปลงใหญ่ จะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุน การวิจัยพันธุ์ข้าวไม่ใช่ 8 ปีต่อพันธุ์ จะต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นแล้วให้ผลิตน้อยลง ปลูกข้าวน้อยลง แล้วให้หันไปทำอย่างอื่น เพราะสู้ไม่ได้แล้ว ขนาดน้ำใช้ในการเกษตรฟรี เพราะฉะนั้นจะต้องแปลงใหญ่ มีข้าวพันธุ์ดี ผลผลิตต่อไร่สู้ได้ พอเป็นแปลงใหญ่พิสูจน์แล้วว่า แต่คนละทำแปลงใหญ่เอง แต่ไม่ใช่แปลงใหญ่รวมกัน จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วย ต่อตันถูกลง ผลผลิตต่อไร่จะสูงขึ้น แต่ต้องมีระบบการจัดการน้ำฟรี ระบบการจัดการน้ำก็ไม่ไหว เพราะไม่มีน้ำเพียงพอ จะต้องทำนาน้อยลง จะทำนามากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

 

แต่ที่ชาวนาทำอยู่ก็เพราะหวังเงินประกันรายได้เกษตรกร เพราะฉะนั้นเมื่อได้เงินประกันรายได้แล้ว เค้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพราะยิ่งราคาต่ำ ก็จะยิ่งได้เงินชดเชย ในที่สุดก็ขายไม่ออก ก็ต้องเททิ้งอยู่ในสต๊อก ปัญหาในตอนนี้ทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะเราดันทุรัง

 

“เงินสวัสดิการสงเคราะห์” เป็นเหมือนดาบสองคม เวลาเดือดร้อนจะช่วยเหลือ แต่ถ้าช่วยเหลือมากเกินไปก็จะไม่ทำมาหากิน ไม่ปรับตัว ก็เช่นเดียวกัน พวกสมาคมชาวนาฯ  สมาคมโรงสี และสมาคมส่งออก  ก็รู้กัน มีโครงการในเรื่องเงินอุดหนุน การปรับตัวไปสู่พืชอื่น แต่เกษตรกรเลือกแจกฟรี ไม่ปรับตัว ข้าวไม่ต้องดูแล ช่างหัวมัน ขายได้ราคาต่ำก็ไม่เป็นไร รัฐบาลประกัน นี่คือนโยบายของรัฐบาล ทำให้เจ๊ง

 

ดังนั้นจะต้องกลับมาทบทวนนโยบาย ว่าชี้นำอย่างนี้อนาคตไม่มีแล้ว การปรับตัวของเกษตรกรเป็นเรื่องใหญ่ นโยบายรัฐบาลทำให้เกษตรกรเคยตัว แน่นอนในยุ้งฉาง เกษตรกรก็จะทิ้ง จะกลายเป็นข้าวเก่า เสื่อมคุณภาพอยู่ในยุ้ง ทิ้งจำนำ เป็นภาระ ของ ธ.ก.ส. ไม่แน่ใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิอย่างเดียวหรือไม่

 

“ธ.ก.ส.ไม่เป็นอะไร แต่ประชาชนเป็น เพราะเป็นเงินภาษี นโยบายต้องปรับใหม่ ทำอย่างนี้เคยตัวไม่ได้ นโยบายประกันรายได้กับช่วยเหลือต้นทุน ทั้งค่าเก็บเกี่ยว  ทุกอย่างรวมกัน แสนกว่าล้านแล้ว มากกว่างบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกกรมรวมกัน แต่วิจัยข้าว ไม่ถึง 200 ล้านบาท นี่เห็นไหม ใช้เงินผิดทาง นโยบายผิดทาง แล้วจะทำให้คนไม่ปรับตัว จะทำให้คนเคยตัว”

 

เกษตรกรจะปลูกทิ้งๆ ขว้างๆ ประสิทธิภาพไม่ดี ผลผลิตไม่ลดต้นทุน ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น คิดว่ารัฐบาลช่วยหมด เพราะฉะนั้นวิจัยต้องปรับใหม่ นโยบายเรื่องการช่วยเหลือต้องปรับใหม่ ไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ จะเป็นแปลงใหญ่หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่โจทย์ต้องเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มผลผลิตต่อไร่  ลดต้นทุนให้ได้ นั่นแหละโจทย์ใหญ่

 

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า   ข่าาวข้าวเยอะมากช่วงนี้ หลังจากมีเวลาว่างจึงลองนั่ง ย้อนคิดทบทวนประเมินเล่นๆเกี่ยวกับส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยในตลาดโลกดู ก็พบจุดน่าสนใจหลายจุดที่ๆผ่านมาเราเองก็มองข้ามไปเพราะไม่คิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจุดที่เรามองข้ามก็มีผลเข้ามากระทบส่วนแบ่งตลาดข้าวของเราไม่น้อยเลย

 

การผลิตข้าวสารโลกรวมต่อปีอยู่ที่ประมาณ 500 กว่าล้านตันข้าวสาร สอดคล้องกับการใช้และการบริโภครวมทั่วโลกประมาณ 500 กว่าล้านตันเช่นกัน ขณะที่ปริมาณการค้าข้าวสารทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 45-47 ล้านตัน โดยตัวเลขการค้าข้าวโลกรวมจะอยู่ที่ประมาณนี้ 9% ของการผลิตรวมข้าวสารทั่วโลก

 

คือหากนับย้อนไปสิบกว่าปีก่อนจนมาถึงปัจจุบัน ตัวเลขการใช้และบริโภคข้าวสารรวมทั่วโลกถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจากเดิมในปี 2551 อยู่ที่เพียงประมาณ 440 ล้านตัน โดยในแต่ละปีการใช้ก็เพิ่มขึ้นทุกปี คือปีละประมาณ 1% มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันปริมาณการใช้และบริโภคข้าวสารรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 504 ล้านตันในปี 2563  ซึ่งก็สอดคล้องกับการผลิตข้าสารโลกที่ประมาณ 500 กว่าล้านตัน/ปีเช่นกัน (ที่มา: องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ)  ซึ่งหมายความว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งปริมาณการค้าและการบริโภคสินค้าข้าวโลกรวมไม่ได้ต่ำลง 

 

อุปสงค์หรือความต้องการในตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่องในอัตราคงที่  ประเทศผู้นำเข้ายังคงมีความต้องการซื้อข้าวในอัตราเท่าเดิม ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 ประเทศยังเป็นประเทศเดิม คือ อินเดีย สหรัฐฯ ไทย เวียดนาม และ ปากีฯ  เพียงแต่สัดส่วนการครองส่วนแบ่งตลาดนั้นเปลี่ยนไป และประเทศผู้ส่งออกข้าวทุกรายเน้นส่งออกให้มากและลดการถือสต็อกลง หากเปรียบเทียบกับ ปี 2557 สต็อกรวมผู้ส่งออก 5 ประเทศใหญ่มีสต็อก ณ สิ้นปี 2557 รวมอยู่ที่ 50 ล้านตัน ข้าวสาร ปัจจุบัน สต็อกรวม 5 ประเทศอยู่ที่เพียง 30 ล้านตันข้าวสาร คือประเทศผู้ส่งออกต่างเน้นการลดสต็อกตนเองเพื่อเตรียมรับผลผลิตใหม่ที่จะออก

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในห้าผู้ค้ารายใหญ่ของโลกมาดั้งเดิม  แต่ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายข้าวทั่วโลกไม่ได้ลดลง ในทางตรงข้ามปริมาณการส่งออกของไทยกลับสวนทางกับตลาดโลก คือ ลดลงทั้งตลาดบนและตลาดล่าง  โดยตลาดบน (ตลาดข้าวหอมมะลิ) ไทยได้เสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเวียดนาม ส่วนตลาดล่างเช่นข้าวขาว ข้าวนึ่งทั้งคุณภาพกลาง-ล่าง ไทยได้เสียตลาดส่วนที่เคยเป็นของไทยให้กับอินเดีย  ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้วเราควรจะวิเคราะห์หรือมองหาโอกาสที่จะปรับตัวและรับมือเอาคืนส่วนแบ่งตลาดกลับมาอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดได้

 

“ในความเป็นจริงแม้ไทยจะเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตและผู้ค้าข้าวโลก แต่หากดูทั่วโลกในแต่ละภูมิภาคของโลกต่างก็มีผู้ผลิตข้าวในท้องถิ่น ดังนั้นนอกเหนือจากแรงจูงใจด้านราคา การผลิตและทำตลาดให้ตรงรสนิยมการบริโภคของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆด้วยก็สำคัญ เพราะผู้นำเข้าบางประเทศสามารถปลูกข้าวได้ แต่ช่วงที่ขาดแคลนก็จำเป็นต้องนำเข้า เขาก็เลือกนำเข้าข้าวจากอินเดีย  ตัวอย่างเช่นประเทศในแถบอเมริกาใต้ที่สามารถปลูกข้าวเองได้ และก็อาจมีพันธุ์ที่เป็นที่นิยมอยู่ดั้งเดิม”

 

แต่ก็มีการนำเข้าข้าวในช่วงที่ขาดแคลนเช่นกัน ก็อาจต้องหาวิธีทำตลาดส่วนนี้ รวมถึงตลาดแอฟริกาที่เคยเป็นลูกค้าข้าวขาวและข้าวนึ่งของไทย ปัจจุบันกลับหันไปซื้อจากอินเดียแทน   ซึ่งต้องยอมรับว่าทั่วโลกมีความนิยมที่หลากหลาย ไม่ได้นิยมบริโภคข้าวนุ่มเพียงชนิดเดียว เพียงแต่ผู้บริโภคข้าวนุ่มนั้นกระจายอยู่ทั่วโลก เช่น คนเอเซียที่กระจายไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆทั่วโลก ซึ่งก็ยังมีความนิยมที่แตกต่างกันอีกแต่ที่คล้ายกันคือนิยมบริโภคข้าวพื้นนุ่ม  ซึ่งหากวิเคราะห์ตลาดข้าวนุ่ม และสัดส่วนการขายของไทยในตลาดโลก ต้องยอมรับว่าเวียดนามเข้ามาแทรกแซง ส่วนแบ่งตลาดส่วนนี้ได้เนื่องจากราคาของเวียดนามถูกกว่าเพราะเขาสามารถทำผลผลิตต่อไร่ได้สูงกว่า โดยที่คุณภาพดีใกล้เคียงเรามากขึ้นเรื่อยๆ  ถือเป็นการแข่งขันที่เราเห็นได้ชัดมากในข่วงระยะที่ผ่านมา

 

 ที่น่าสนใจเช่นกันคือ  เราสูญเสียตลาดข้าวขาวพื้นแข็งและข้าวนึ่งให้กับประเทศอินเดียโดยที่เราไม่ทันระวังตัวด้วยหรือไม่และเพราะเหตุใด  แม้ว่าอินเดียมีที่ตั้งภูมิประเทศที่ได้เปรียบไทยในด้านการขนส่งไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกา   แต่ปัจจัยที่ทำให้ประเทศที่เคยบริโภคข้าวไทยเปลี่ยนไปบริโภคข้าวอินเดียแทนนั้น มีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่นอกจากเรื่อง ราคาการขนส่ง และค่าเงิน (อัตราแลกเปลี่ยน) รวมถึงรสนิยมการบริโภคข้าวประเภทนี้

 

อีกทั้งยังมีข้อมูลปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศอินเดียบ่งชี้อีกว่า การส่งออกข้าวอินเดียในส่วนที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ นั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย  ซึ่งข้าวบาสมาติของอินเดียถือเป็นข้าวคุณภาพสูง เมล็ดยาว มีกลิ่นหอมถูกจัดอยู่ในกลุ่มข้าวหอม  แต่ปริมาณการส่งออกข้าวสารของอินเดียที่เพิ่มขึ้นล่าสุดกลับไม่ใช่กลุ่มข้าวหอมหรือบาสมาติ กลับเป็นข้าวพื้นแข็งทั่วไปที่ส่งออกไปทั่วโลก

 

 โดยอินเดียยังสามารถส่งออกมาถึงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่เคยเป็นผู้ซื้อข้าวไทยอีกด้วย  ความต้องการของผู้บริโภคข้าวกลุ่มนี้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่  ข้าวของอินเดียตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากกว่าข้าวไทยด้านใด  หรือควรจะมีวิธีการใดให้กลุ่มลูกค้าในภูมิภาคท้องถิ่นอื่นๆที่บริโภคข้าวอินเดียอยู่หันมานิยมและสนใจบริโภคข้าวแข็ง/ข้าวพื้นนุ่ม/ข้าวนึ่งของไทยได้บ้าง  น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ข้าวไทยยังพอจะยืนอยู่ในตลาดต่อไปได้  เพราะหากพิจารณาให้ดีทั้งปริมาณการบริโภคข้าวโลกและการค้าเพิ่มขึ้น

 

แต่ไทยกลับเป็นประเทศที่กำลังเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างเดียว แต่ไม่สามารถดึงส่วนแบ่งจากประเทศผู้ค้าใหญ่อย่างอินเดียมาได้บ้างเลย  หากเราไม่วิเคราะห์และทำนโยบายเชิงรุก  การจะกลับมาเป็นผู้ค้าหลักนั้นถือว่ายากมาก  หากไทยไม่ปรับตัวหรือมองรอบด้านหรือเร่งหาตลาดเพิ่มสร้างค่านิยมการบริโภคใหม่ๆให้ได้  การจะกลับไปเป็นแชมป์ หรือไม่เป็นแชมป์ แค่เอาแค่ประคองตัว ก็ถือเป็นเรื่องยากและหากไทยไม่เร่งดึงส่วนแบ่งตลาดการส่งออกกลับมา

 

โดยวิเคราะห์ตลาดให้ชัดเจนว่าจะเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนสู้กับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นอย่างไร การถือสต๊อกของไทยจะมากเกินและสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ การหมุนสต็อกของเราจะไม่มีประสิทธิภาพ มีผลทั้งกดดันราคาข้าวเปลือกที่ออกใหม่ และสภาพคล่องในอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบจะชะงักไปด้วย

 

หากมองโครงสร้างใหญ่แล้วสถานการณ์โควิดที่เผชิญอยู่ ให้บทเรียนอะไรกับเราที่เราจำเป็นต้องปรับตัว และเรียนรู้กับสถานการณ์ที่เจอ เช่นเรื่องส่งมอบ-รับมอบสินค้าข้าว  ปัจจัยด้านกระบวนการขนส่งที่เข้ามามีผลต่อราคาข้าวด้วย ที่ทำให้ต้นทุนสินค้า ช่วงที่ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือสูงขึ้นและกระทบต่อราคาของผู้ซื้อปลายทาง  รวมถึงแรงกดดันเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค  ราคายิ่งกลายเป็นปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคต่างประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งหากอยู่ในสภาวะปกติก็าจจะไม่ได้มีผลกระทบสูงมากเท่านี้  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักและเตรียมรับมือต่อไปในอนาคตหรือไม่

 

ที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องการปรับตัวในเรื่องงานวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว ในด้านคุณภาพ เพิ่มผลผลิต ตอบโจทย์ตลาด ตอบโจทย์ชาวนา ในเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ให้ความรู้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเร่งด่วน รวมถึงการพัฒนาปรับปรุง แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำสาธารณะ ขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการปลูกข้าว เมื่อยามที่ฝนทิ้งช่วงและน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวชาวนา มากกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร การใช้งบประมาณในการส่งเสริมด้านต่างๆแก่เกษตรกร ทั้งทางตรงทางอ้อม ต้องมีการประเมินผล ความคุ้มค่าด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ตรงกับความต้องการให้ชาวนาได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

 

การช่วยเหลือชาวนา ในเรื่องของเงินทุน และเรื่องต่างๆ จะต้องระมัดระวังไม่เป็นการไปกระตุ้นให้เกิดหนี้มากขึ้นเกินไป โดยไม่สามารถสร้างรายได้ให้พอกับรายจ่าย  ชาวนาเองก็ต้องวิเคราะห์ให้ได้ ไม่งั้น “จะเป็นการกู้หนี้ ใช้หนี้ หนี้พอกพูน”  และรัฐบาลจะมี นโยบายอะไร ที่จะช่วยลดภาระหนี้สินหรือตัดภาระหนี้สิน ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการเงิน เพิ่มทุน เพิ่มรายได้ให้กับชาวนาได้ ไม่อย่างนั้นก็อาจจะอยู่ในวังวนเช่นนี้ต่อไป “กู้หนี้ ใช้หนี้” รายจ่ายมากกว่ารายได้

 

 

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ  กล่าวว่า ปีนี้ประหลาด ราคาข้าวตกมาตลอด อธิบายได้ จากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทำให้คนไม่มีเงินในการใช้จ่ายต่างๆ เพราะฉะนั้นจะไปดีกับ ข้าวนุ่มของ ข้าวหอมปทุมธานีราคาไม่ตก ข้าวขาว5% ราคาไม่ตก ส่วนข้าวหอมราคาปรับลงนิดหนึ่ง จาก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐมาเหลือ 800 ดอลล่าร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ดีโครงการสินเชื่อชะลอการขายหรือ “จำนำยุ้งฉาง” มาเป็นเครื่องมือเสริม ที่ดีมากในแง่ของการดึงข้าวออกจากตลาดในช่วงที่เก็บเกี่ยว หลังจากนั้นหากราคาขึ้นก็ค่อยทยอยขาย จะทำให้ชาวนามีทางเลือกมากขึ้น ไม้งั้นจะต้องนำข้าวไปขายทันทีหลังจากเกี่ยวข้าว เพียงแต่ว่าข้อแม้ ธ.ก.ส.จะต้องจัดระบบให้ดี จัดเรื่องยุ้งฉางให้ดีเพื่อไม่ให้คุณภาพข้าวเสื่อมลง ดูการจัดเก็บข้าวของชาวบ้านต้องดูแลด้วย

 

อย่างไรก็ดี ธ.ก.ส. ก็ต้องออกมาระบาย เพราะเก็บนานไม่ได้  เพราะเก็บนานข้าวจะเสีย ซึ่งการจำนำข้าว จะระบุไว้ว่าระยะเวลาเท่าไร ถ้าไม่มาไถ่ถอนจะตกเป็นของ ธ.ก.ส. แล้ว ธ.ก.ส.จะต้องระบายข้าวออกเพราะว่าถ้าไม่เร่งระบายออก ฤดูใหม่ข้าวมาจะทำให้ราคาข้าวตก แล้วจะต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บข้าวใหม่ด้วย

 

รศ.สมพร กล่าวว่า ต้องยอมรับโครงการจำนำยุ้งฉาง ช่วยเป็นแก้มลิง ไม่ให้ราคาข้าวตกลง ผมเชียร์มาตรการนี้มาถูกทางเพราะว่า การจำนำยุ้งฉาง ชาวบ้านก็นำข้าวมาเก็บในยุ้งฉางตัวเอง ค่าฝากข้าว ค่าดูแลข้าว เพียงแต่ว่าจะต้องดูแลข้าวให้ดี ดูแลความหอม ซึ่งผมเคยให้ทำงานวิจัยการดูแลข้าวหอมมะลิให้มีความหอม คือ มียุ้งฉางก็จริง เป็นสังกะสีบ้าง จะมีผลต่อความหอม ความนุ่ม เวลาเราเก็บข้าว เคยบอกกับ ธ.ก.ส. ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็รับปากว่าจะไปปรับปรุงในสินเชื่อจำนำยุ้งฉางโครงการนี้ดี ให้ชาวบ้านค่อยทยอยขายหากราคาขึ้นก็ได้รายได้ดีขึ้น เพราะต้นฤดูราคาจะลง จะมีผลกับ ธ.ก.ส.จะขาดทุนในส่วน ที่เก็บไว้

 

สุเทพ คงมาก

 

นายสุเทพ คงมาก นายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลจะไปเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า  Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP)  ไม่เห็นด้วย ในเรื่องของข้าว การวิจัย และ เรื่องการพัฒนาต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นก่อน

 

“วันนี้ชาวนาเราจะต้องแอบเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวของเวียดนามมาปลูก  (ข้าวหอมพวง) หรือ ข้าวจัสมิน ถ้ายังไม่ทุ่มเงินงบประมาณไปให้วิจัย พัฒนาเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้นกว่านี้ อันตราย เพราะฉะนั้นอยากจะฝากถึงรัฐบาลว่า งบประมาณมากมายแค่ให้วิจัยทุกชนิดอย่างข้าวควรจะใส่งบประมาณขั้นต่ำ 3,000 -4,000 ล้านบาท ไม่ใช่ แค่ 200 ล้านบาท”

 

นายสุเทพ กล่าวว่า การวิจัยสำคัญที่สุดหากประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกลับใส่งบประมาณไปทุ่มอย่างอื่น เราจะไปถึงจุดสุดอย่างไร จะไปแข่งขันกับเวทีโลกได้อย่างไร ยากมากจึงอยากจะฝาก ซึ่งเราไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วม CPTPP อยู่แล้ว ต้องการอยู่แบบนี้ แล้วต้องการพัฒนาก่อน ที่ประชุม นบข. ผมได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีในเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งท่านก็ได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งพัฒนา

 

โดยเฉพาะนักวิจัยข้าวที่มีพันธุ์อยู่ในมือของกรมการข้าวก็รีบเสนอแผนให้ออกมารับรองให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะให้มีพันธุ์ข้าวที่แข่งกับตลาดโลกได้ ส่วนในเรื่องการปลอมปนข้าวพื้นนุ่มผสมไปกับข้าวชนิดอื่น โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะต้องมีการวางแผนพื้นที่โซนนิ่งข้าวให้ชัดเจน จะต้องไปสู่แปลงใหญ่ ต้องร่วมมือกับโรงสีและผู้ซื้อข้าว หากมีความต้องการข้าวพื้นนุ่มจริง จะต้องจับมือกับชาวนา ส่วนผู้ส่งออกจะต้องจับมือกับโรงสี แล้วให้ชาวนาปลูกข้าวในพื้นที่ที่ต้องการ จะเป็นหมื่นไร่ หรือ แสนไร่ ให้ขายตรงกับโรงสี จะไม่เกิดการปลอมปน

 

แต่วันนี้ถ้าทุกคนพลอยหวังแต่ผลประโยชน์จากข้าว โรงสีซื้อมาอย่างไรก็ขายให้กับผู้ส่งออก แล้วกระบวนการตรวจสอบไม่ชัดเจน ชาวนาเองก็ต้องการความสะดวกในการขาย ต้องการผลผลิตเพิ่ม หากมีการปลอมปนจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องข้าวขาว หรือข้าวพื้นแข็งจะมีปัญหา ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงในที่ประชุม นบข. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับโรงสีและผู้ส่งออกต้องจับมือกัน ทำให้เป็นเครือข่าย เป็นห่วงโซ่ข้าวเพื่อการพัฒนาต่อไปหากคนใดคนหนึ่งทำไม่สำเร็จ

 

อย่างไรก็ดีหลังโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ไม่ว่าจะเป็นโรงสีเองก็มีการปรับตัวเอง เพิ่มไลน์การผลิตนำข้าวมาบรรจุเป็นข้าวถุง มาทำข้าวภายในกันมาก แต่วันนี้เรายังไม่มีตัวเลข เพียงแต่มีการคาดการณ์จากนักวิชาการ ว่าจำนวนประชากร 60 ล้านคน รับประทานข้าวเท่าไร แต่วันนี้จะต้องมีตัวเลขให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการผลิตข้าวถุงมีเท่าไร กี่ราย  ขึ้นทะเบียน การขายซื้อข้าวมีจำนวนเท่าไร ชนิดไหน ทำข้าวถุงประเภทอย่างไร ขนาดเท่าไร เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องทำเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจน

 

ตั้งคำถามว่าชาวนามีความกังวลไหม ส่วนหนึ่งอาจจะมีความกังวล แต่อยู่ที่การวางแผน และสร้างเครือข่ายที่ทำเป็นกลุ่ม พยายามประสานงานในเรื่องโรงสีเพื่อขายตรง ไม่น่าเป็นห่วง ผู้ส่งออกเองอย่างไรก็ทำอาชีพในการส่งออก ส่วนชาวนาเองวันนี้ก็พยายามลุกขึ้นมาทำธุรกิจให้ครบวงจรขึ้น เป็นธุรกิจทำนา ธุรกิจแปรรูปข้าว นั่นคือทางออกอย่างหนึ่ง เชื่อมเครือข่ายพันธมิตรหาโรงสีมาผลิตข้าวขายชุมชน ดึงส่วนแบ่งตลาด

 

"ส่วนปัญหาใหญ่ในเรื่องข้าวล้นโอเวอร์ซัพพลายน่าจะไม่เกิดขึ้น กลัวอย่างเดียวว่า ถ้ามีนโยบายลดพื้นที่การทำนา ชาวนาอยู่ไม่ได้ หยุดปลูกข้าว เราต้องซื้อข้าวจากต่างชาติเข้ามารับประทานในประเทศ เราไม่ยอมแน่นอน"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง