ในทุกระลอกของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไมซ์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ต้นปี 63 ถึงปัจจุบัน ซึ่งกว่าธุรกิจนี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติต้องรอถึงปี 2568 แต่ระหว่างปี 2564-2568 ทีเส็บ มีแผนรับมือและขับเคลื่อนตลาดไมซ์อย่างไร นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ มีคำตอบ
โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจไมซ์ในปี 63 ที่ลดลงราว 63-68% และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดในระลอก 3 ในปีนี้ทำให้ตลาดไมซ์ในปีงบประมาณ 64 สำหรับไมซ์จากต่างประเทศจะลดลงกว่า 90% ส่วนไมซ์ในประเทศ จะลดลงราว 60% โดยการจัดงานไมซ์ตลาดในประเทศ ในปีงบประมาณ 64 มีงานยกเลิกกว่า 14 งาน เลื่อนจัดงาน 44 งาน มีจำนวน 33 งานที่ยืนยันจะจัดตามแผน ส่วนงานไมซ์จากต่างประเทศ ยกเลิก 14 งาน เลื่อน 38 งานยืนยันที่จะจัด 44 งาน
คาดปี 68 ไมซ์ขยับฟื้น 80%
ทั้งทีเส็บได้คาดการณ์การเดินทางไมซ์จากผลกระทบของโควิดที่เกิดขึ้น โดยพบว่าการเดินทางของตลาดไมซ์ต่างประเทศ ยังคงมีความท้าทาย โดยไมซ์จากต่างประเทศคาดว่ายังไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่ในปี 64 แต่คาดว่าจะทยอยกลับมาในปี 2565 ที่ 25% ปี2566 ที่ 50% ปี2567 ที่ 70% และปี2568 จะกลับสู่ภาวะปกติ 80% โดยการทำการตลาดเน้นการดึงงาน เจาะกลุ่มตลาดที่เป็นระยะใกล้และมีความพร้อมก่อน เช่น สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และไต้หวัน เป็นต้น
ส่วนการเดินทางของตลาดไมซ์ในประเทศ เป้าหมายหลักในการกระตุ้นตลาดในช่วงแรกและพัฒนาต่อยอดให้มีความยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดต่างประเทศเพียงอย่างเดียว โดยเน้นการประชุมสัมมนาภาครัฐและเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนพร้อมกับการสร้างงานและกระจายงานสู่ภูมิภาค ที่จะฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการให้อยู่รอดและกลับมาแข็งแรง โดยเริ่มที่การผลักดันแคมเปญกระตุ้นตลาดในประเทศ ซึ่งคาดว่าในปี 2564 จะกลับมาที่ 35% ปี 2565 ที่ 60% ปี 2566 ที่ 80% ปี 2567 กลับสู่ปกติที่ 100% และปี 2568 เติบโตเป็น 110% ตามลำดับ
ชูประชุมเมืองไทยเฟส 3
สิ่งที่ทีเส็บกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ 1.การดูแลคนในอุตสาหกรรมนี้ โดยทำเรื่องฉีดวัคซีน บุคลากรด่านหน้าขององค์กรต่างๆ และ 2.การหาโอกาสทำให้ธุรกิจไมซ์เดินหน้าได้เร็วที่สุด ซึ่งการดำเนินงานของทีเส็บในปีนี้ จะเน้นเรื่องของ “การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบ การไมซ์ในทุกด้าน” ที่มี 3 โครงการปัจจุบันที่จะดำเนินการ ได้แก่
1.เตรียมความพร้อมบุคลากรไมซ์ฉีดวัคชีนโควิค 19 ทีเส็บร่วมหารือ 3 สมาคมอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ TICA TEA และ EMA เตรียมรวบรวมข้อมูลและรายชื่อบุคลากรไมซ์ที่ต้องการรับวัคซีน โดยทีเส็บจะเป็นผู้ดำเนินการและประสานงานหลักกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธรณสุข
2. เตรียมความพร้อมสถานที่จัดงานศูนย์ประชุมฯ ที่ปรับพื้นที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิต 19 ให้มีความพร้อมกลับมาดำเนินธุรกิจทีเส็บ เตรียมการสนับสนุนศูนย์ประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามปรับพื้นที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ให้มีความพร้อมกลับมาดำเนินธุรกิจ อาทิ อิมแพ็ค ศูนย์ประชุมฯ หาดใหญ่ (N.C.C) และศูนย์ประชุมฯ เชียงใหม่ เป็นต้น ในการหาแนวทางฟื้นฟูร่วมกันเพื่อให้สถานที่จัดงานดังกล่าวกลับมาเป็นสถานที่รองรับการจัดงานไมซ์ได้เช่นเดิม เมื่อโควิดคลี่คลาย รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีแบบเวอร์ชัลและไฮบริด เพื่อให้จัดงานแสดงสินค้าได้
3. เร่งกระตุ้นการจัคงานไมซ์ในประเทศ สานต่อโครงการประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า เฟส 3 ซึ่งได้เปิดโครงการตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.64 ขอรับการสนับสนุนได้จนถึง 15 ก.ย.64 เพื่อให้จัดกิจกรรมภายใน 20 ต.ค.64 ที่ทีเส็บจะสนับสนุนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อกลุ่ม (อย่างน้อย 30 คน)สำหรับการจัดกิจกรรม 1 วันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
รวมทั้งสนับสนุนไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อกลุ่ม (อย่างน้อย 30 คน)สำหรับการจัดกิจกรรม 2 วัน 1 คืน โดยวันที่ 2 ต้องจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงและเข้าพักอย่างน้อย 5 ห้อง โดยจนถึงวันที่ 4 พ.ค. 64 มีผู้ขอรับการสนับสนุนและอนุมัติแล้วจำนวน 148 โครงการ กระจายการจัดงานไปยังจังหวัดต่างๆ อาทิ กระบี่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น นครราชสีมา หนองคาย กาญจนบุรี
อีกทั้งยังสนับสนุนการจัดงานใน 10 เมืองไมซ์ซิตี้ ก็ให้เข้าศบค.เพื่อใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจัดงานได้ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่สีแดงก็สามารถจัดงานได้ ทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานแสดงสินค้า อาทิ งาน Korat FooDEx2021 วันที่ 28 ก.ค.-1 ส.ค.นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าขายภายในงานกว่า 40 ล้านบาท งานเวิล์ด ฮาลาล โปรดักต์แอนด์ เอ็กซิบิชั่น 2021 วันที่ 26-29 ส.ค.นี้ ที่จ.สงขลา
ดึงตลาดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
ขณะที่การเตรียมงานไมซ์จากตลาดต่างประเทศล่วงหน้า จะเจาะตลาดไมซ์ระยะใกล้ อาทิ งาน TIME 2021 จับคุ่ธุรกิจผู้ประกอบการไมซ์กับกลุ่มเป้าหมายผู้จัดงานตลาดจีน (แบบเวอร์ชัล) วันที่ 22-23 มิ.ย.นี้ เป็นต้น รวมถึงการดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศเข้าไทย โดยให้ความสำคัญกับตลาดต่างชาติ ที่ฉีดวัคซีนแล้ว
สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวภูเก็ตได้ ตามโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” โดยทีเส็บจะดึงกลุ่มคอร์ปอเรต และกลุ่มอินเซ็นทีฟ จากประเทศที่มีสายการบินจากเส้นทางระหว่างประเทศเข้าภูเก็ตเป็นหลัก
อีกทั้งยังมีการประสานงาน กับศบค.เตรียมการดึงงานต่างๆจากต่างประเทศเข้ามาในอนาคต ที่เรามองไปถึงปี 2565 ที่จะดึงงานจากต่างประเทศเข้ามาจัดในไทย อาทิ งานประชุมเอเปกในเดือนพ.ย. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ การดึงเมกกะอีเว้นท์ต่างๆ มาจัดในไทย อาทิ งานประชุมของสมาคมส่งเสริมการประชุมระหว่างประเทศ หรือ International Congress and Convention Association (ICCA)ที่เรากำลังดึงงานเข้ามาจัดในไทย และการเข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยีแบบเวอร์ชัลและไฮบริด เพื่อให้จัดงานแสดงสินค้าได้
อย่างไรจากโควิด-19 ทำให้ทิศทางของตลาดไมซ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปลี่ยนไปจากเดิมจากการที่แต่ละประเทศมีข้อจำกัดในการเดินทาง ส่งผลให้รูปแบบของขนาดกลุ่มไมซ์จะเล็กลง ระยะเวลาพักสั้นลง การจัดงานที่เป็นแบบเสมือนจริง ผสมผสานระหว่างไฮบริด ออนไลน์ และออนกราวด์ และการคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัย เป็นต้น
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวเกี่ยวข้อง: