นายไมเคิ้ล ถัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ในกลุ่มสยามพิวรรธน์ ผู้บริหาร “สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จะยังมีอยู่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ และจากการประเมินว่านักท่องเที่ยวในไทยจะขยายตัวในระดับต่ำ 1-2% และเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังการเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเติบโต 10-15% ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566-2567
ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการในศูนย์และผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นคนไทย 95% และชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยหรือ expat 5% โดยในปีนี้จะมีร้านดังทยอยเปิด ได้แก่ Reebok, Browne & Co. แบรนด์เสื้อผ้าสไตล์สมาร์ทแคชชวลของสุภาพบุรุษ, U by Ungaro แบรนด์แฟชั่นสุภาพบุรุษ และ Pierre Cardin, Vintel แบรนด์ชุดนอนผ้าเยื่อไม้ไผ่แท้, Josilins, Alphakid ร้านของเล่นเด็ก
และแบรนด์ที่จะเปิดเพิ่มในครึ่งปีหลัง ได้แก่ Longchamp กระเป๋าถือแบรนด์ดังจากฝรั่งเศส ซึ่งจะเปิด Exclusive Outlet แห่งแรกที่ สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ ในเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึง Ecco ร้านรองเท้าแบรนด์ยอดนิยม
นอกจากนี้ยังมีร้านป๊อป อัพ สโตร์ (pop-up store) ที่หมุนเวียนมาเปิด เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ศูนย์ เช่น Pomelo เสื้อผ้าแบรนด์สำหรับวัยรุ่นวัยทำงาน บนพื้นที่กว่า 500 ตร.ม., Lush ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแบรนด์ดังจากอังกฤษ ซึ่งเปิดให้บริการแห่งแรกในเมืองไทย รวมถึงแบรนด์รองเท้า Nine West, Steve Madde , Airwalk และ Yogibo เฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ด้านกลยุทธ์การทำตลาด สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ เน้นการปรับตัวให้สอดคล้อง New Normal จึงพัฒนาแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ นำสินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกแพลตฟอร์ม ทั้งเว็บไซต์ของสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ โซเชียลคอมเมิร์ซผ่าน Facebook, Instagram และบริการ CHAT&SHOP บนไลน์ออฟฟิเชี่ยล ซึ่งคาดว่าบริการนี้จะสามารถช่วยให้ร้านค้าต่างๆ สามารถเพิ่มยอดขายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10-30%
“การสรรหาสินค้าลักชัวรี่แบรนด์และอินเตอร์แบรนด์ มาร่วมเป็นพันธมิตรจะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ช็อปปิ้งให้แก่ลูกค้า โดยสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ จะเชื่อมต่อการช้อปปิ้งทั้งออฟไลน์สู่ออนไลน์ พร้อมสร้างสรรค์กลยุทธ์การตลาด โปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย”
อย่างไรก็ดี แม้ในปีแรกที่เปิดให้บริการจะต้องเผชิญกับโควิดตลอดทั้งปี แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ โดยมีร้านค้าแบรนด์ชั้นนำเปิดให้บริการรวม 125 ร้านหรือคิดเป็น 91% ของพื้นที่ มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการซื้อสินค้ากว่า 2 ล้านคน แบ่งเป็นผู้หญิง 65% และผู้ชาย 35% มียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,400-1,500 บาทต่อคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจและเหนือความคาดหมาย เนื่องจากสถานการณ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทมุ่งมั่นทำตลาดเจาะผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อภายในประเทศ ในทางกลับกันหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ คาดว่ายอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนจะเพิ่มสูงขึ้นมากตามไปด้วย
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :