"JWD" เปิดแผนธุรกิจ 5 ปี ขยาย โลจิสติกส์ เติบโตครบทุกมิติ

02 ก.ค. 2564 | 06:04 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 13:17 น.

รายงาน e-Conomy SEA 2020 จาก Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า อีคอมเมิร์ซไทยปี 2563 มีมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดจะเพิ่มเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 ทำให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ หรือธุรกิจขนส่งสินค้า เติบโตสูงตามไปด้วย

เช่นเดียวกับ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้เล่นรายสำคัญของตลาดโลจิสติกส์ ที่มีฐานใหญ่เป็นลูกค้าภาคธุรกิจ (B2B) ถึง 80-90% ซึ่ง “ธเนศ พิริย์โยธินกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการค้า พัฒนาธุรกิจ และการลงทุน JWD บอกว่า การลงทุนทางอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นกลยุทธ์หลักในแผน 5 ปี (2564-2568) ของบริษัท ที่มีทั้งการทรานส์ฟอร์มองค์กร การขยายการลงทุน การมองหาสตาร์ทอัพที่มีโมเดลเหมาะสมน่าสนใจ รวมถึงการลงทุนธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจอาหารและเทคโนโลยี โดยบริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท

“ธเนศ” เล่าว่า จากความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นทั้งตัวเร่งและพลิกโมเดลธุรกิจ ทำให้ JWD ต้องปรับตัวทรานส์ฟอร์มตัวเอง ให้สอดรับกับสภาพที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนขณะนี้คือ การขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ซึ่ง “JWD Express” ทำหน้าที่เจาะลูกค้าหมวดอาหาร ซึ่งปีที่ผ่านมาร้านอาหารเจอปัญหาต้องปิดร้าน ในขณะที่ลูกค้ายังมีความต้องการ จึงเปิดรับ Pre-Order ดังนั้น การขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิจึงเป็นที่ต้องการ JWD จึงมีแผนสร้างห้องเย็น ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ใต้ และอีสาน เพื่อรองรับตลาด 

ส่วนตลาดอีคอมเมิร์ซ บริษัทได้ลงทุนคลังสินค้าออนไลน์ โดยแห่งแรกจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค.นี้ รวมถึงการสร้างพื้นที่จัดเก็บสินค้าเพิ่มอีก 3 หมื่นตารางเมตร จากปัจจุบันมี 6 แห่ง ทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ต พื้นที่รวม 1.2 ตารางเมตร
 
แผนการเติบโตของ JWD เน้นการซื้อและควบรวมกิจการ ซึ่งถือเป็นเส้นทางลัดของการเติบโต โดย “ธเนศ” มองว่า “ความเร็ว” (Speed) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคนี้ ควบคู่กับ “ความแม่นยำ” ในการบุกตลาด นั่นจึงทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง 
 
ปัจจัยที่ JWD จะเลือกลงทุนกับบริษัทไหน “ธเนศ” บอกว่า มี 4 ปัจจัยหลัก คือ 

  1. บิซิเนสโมเดลต้องใช่ เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่มีความต้องการในตลาด
  2. โมเดลธุรกิจต้องเป็นไปได้ มีวิสัยทัศน์
  3. ต้องเป็นโมเดลธุรกิจที่สเกล หรือมีการเติบโตได้
  4. ต้องตอบโจทย์ธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ JWD 

 ในปีนี้ JWD วางแผนที่จะขยายธุรกิจสู่กลุ่ม B2C มากขึ้น จากที่ผ่านมา มีฐานธุรกิจหลักอยู่ที่กลุ่ม B2B เป็นหลัก ล่าสุดกับการร่วมมือกับ Food Story สตาร์ทอัพด้านอาหาร จึงเป็นหนึ่งช่องทางที่เดินตามแผนที่กำหนดไว้ 

โจทย์ยากของการขับเคลื่อนธุรกิจ ท่ามกลางภาวะที่ทั่่วโลกได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด -19 ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ให้เติบโต แต่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนให้ต่ำ ในขณะที่ “บุคลากร” ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ ที่ต้องเชื่อมต่อผสานความคิด และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน การเป็นองค์กรใหญ่ มีบุคลากรหลายเจนเนเรชั่นอยู่ด้วยกัน ต้องผสานความคิดของทุกเจนให้ลงตัว 

จากแผนธุรกิจของ JWD ที่ “ธเนศ” ฉายภาพมา แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายการเติบโตขององค์กรทั้งแนวกว้าง และแนวลึกไปพร้อมกัน ด้วยการสร้างฟั่นเฟือง แต่จิ๊กซอว์แต่ละตัวเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นคงและการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไปขององค์กร


หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564