ความคืบหน้าการจัดซื้อ วัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” โดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่า จะเร่งลงนามสัญญาซื้อขายกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนผู้นำเข้าให้เร็วขึ้นไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมนี้ โดยเบื้องต้นจะจัดซื้อจำนวน 5 ล้านโดส จากยอดการสั่งจองของ โรงพยาบาลเอกชน ที่แจ้งความจำนงเข้ามามากกว่า 9 ล้านโดส โดยคาดว่าจะนำเข้ามาลอตแรกจำนวน 3.9 ล้านโดสในไตรมาส 4/2564 และลอต 2 จำนวน 1.1 ล้านโดสในไตรมาส 1/2565 นั้น
แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในที่ประชุมร่วมซึ่งมีองค์การเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งล่าสุด พบว่า มีรายชื่อโรงพยาบาลรัฐ ที่ขอเข้าร่วมฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาด้วย 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช และสภากาชาดไทย ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างมาก เพราะจากหลักการที่พูดคุยกันมา วัคซีนทางเลือกจะเป็นวัคซีนสำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่นำไปฉีดให้บริการกับประชาชนทั่วไปที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อฉีดวัคซีนเอง
นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีออกประกาศเชิญชวนประชาชนสั่งจองวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก Moderna ในราคา 1,500 บาทต่อโดส (ค่าวัคซีน+ค่าบริการฉีด) โดยเริ่มสั่งจองได้ตั้งแต่วันที่ 5 -11 กรกฎาคม 2564 ทั้งประชาชนทั่วไปและในนามองค์กร ซึ่งพบว่ายอดจองวัคซีนหมดในเวลาอันรวดเร็ว
“หลังจากที่ อภ.กำหนด ราคาขายวัคซีนโมเดอร์นา ให้กับโรงพยาบาลเอกชนในราคาโดสละ 1,100 บาท ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีสมาชิกเป็นโรงพยาบาลเอกชนรวม 390 โรงพยาบาล ได้กำหนดราคากลางค่าบริการฉีดเป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลที่ 1,650 บาท โดยหลายโรงพยาบาลได้เปิดให้จองวัคซีนและจ่ายเงินมัดจำแล้ว แต่พบว่า โรงพยาบาลรามาฯ กลับเปิดจองในราคาที่ถูกกว่า เรื่องนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม และโรงพยาบาลเอกชนก็พูดไม่ได้ น้ำท่วมปาก”
ด้านนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจดูแลสุขภาพเครือโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เพิ่งทราบว่ามีโรงพยาบาลรัฐที่เข้าร่วมฉีดวัคซีนโมเดอร์นาด้วย ซึ่งมองว่ายังไม่รู้ว่าจะจัดสรรวัคซีนจากที่ใดให้ เพราะโควตาที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่โรงพยาบาลเอกชนแจ้งความจำนงไว้
วัคซีนโมเดอร์นาลอตแรกที่จะนำเข้ามาในไตรมาส 4 ปีนี้ มีจำนวนเพียง 3.9 ล้านโดส ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่แจ้งตัวเลขจองเข้าไปมีมากกว่า 5 ล้านโดส แค่จำนวนนี้ยังจัดสรรกันไม่ลงตัว แต่เบื้องต้นได้มีการพูดคุยหารือร่วมกันแล้ว โรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีปริมาณไม่มากจะจัดสรรให้ตามจำนวนที่ต้องการ ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะจัดสรรเพื่อนำไปบริการฉีดให้กับผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน เช่น เครือโรงพยาบาลธนบุรีเอง สั่งจองไว้ 2 ล้านโดส จะได้รับวัคซีนลอตแรก 8 แสนโดส
ส่วนเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ที่สั่งจองวัคซีนไว้ 2 ล้านโดส ก็จะได้รับวัคซีนลอตแรก 8 แสนโดสเช่นกัน ส่วนวัคซีนลอตสองที่จะเข้ามาในไตรมาส 1 ปี 2565 นั้น จะมีการพูดคุยกันอีกที
“หากเป็นโรงพยาบาลรัฐสามารถให้บริการฉีดวัคซีนหลัก รวมถึงวัคซีนซิโนฟาร์มหรือไฟเซอร์ได้อยู่แล้ว ส่วนวัคซีนโมเดอร์นา เป็นโควตาที่รัฐบาลระบุว่า จัดสรรให้กับโรงพยาบาลเอกชนเป็นวัคซีนทางเลือก สำหรับประชาชน หากสมาคมจะจัดสรรให้สภากาชาดไทยก็ยินดี เพราะมองว่าเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือประชาชน แต่โควตาที่ขอเข้ามา 1 ล้านโดส อาจจะไม่ได้ตามจำนวนนี้และไม่ได้รับในลอตแรก เพราะลอตแรกยังได้จำนวนน้อยมาก ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ที่จองเข้ามา”
นายแพทย์บุญ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ไทยได้รับวัคซีน mRNA เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เพราะอยากให้รัฐบาลเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากมาย การได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้สถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงได้ เมื่อการเจรจาซื้อขายผ่านบริษัทไม่ได้ ก็ต้องใช้การเมือง การเจรจาทางการทูต ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อโดยตรงถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อให้จัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทย เพราะวันนี้ อเมริกามีวัคซีนเหลือจำนวนมากและกระจายให้หลายประเทศแล้ว
“สิ่งที่ต้องทำคือ สื่อสารให้อเมริการู้ว่าเราต้องการวัคซีนจำนวนมากและต้องการอย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาฉีดสร้างภูมิต้านทานให้กับประชาชนคนไทย ที่วันนี้เชื้อโควิดกลายพันธุ์กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในขั้นวิกฤติ”
อย่างไรก็ดีในวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติลงนามสัญญาเพื่อจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส โดยคาดว่าจะมีการนำเข้ามาได้ในเดือนตุลาคม หรือไตรมาส 4 นี้