นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังประสบความสำเร็จในการเดินหน้าธุรกิจค้าปลีกจากร้านซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก่อนที่จะพลิกมาเป็น “ซีเจ มอร์” ในโมเดลคอมมูนิตี้ มอลล์
ที่รวมแบรนด์ค้าปลีกทั้งร้านนายน์ บิวตี้ (Nine Beauty) ร้านมัลติแบรนด์เครื่องสำอาง, บาว คาเฟ่ (Bao Cafe) ร้านกาแฟสด, อูโนะ (UNO) ร้านจำหน่ายไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น เครื่องเขียนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเอ-โฮม (A-Home) ร้านอุปกรณ์ DIY ต่างๆ
ทำให้บริษัทหันไปศึกษาร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วย เพื่อพัฒนาและยกระดับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าร้านโชห่วย รวมถึงร้านค้าในชุมชนซึ่งมีมากกว่า 4 แสนร้าน ส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่ได้รับการพัฒนา หลังศึกษาอยู่ 2-3 ปีจึงตัดสินใจทดลองลงพื้นที่พร้อมพัฒนาร้านต้นแบบ
ภายใต้ชื่อ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” โดยเน้นการให้ความรู้ การนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ การบริหารจัดการที่ดี หน้าร้านที่สวยงาม ทันสมัย พร้อมร่วมกับคู่ค้าต่างๆ จัดรายการส่งเสริมการขายและสื่อโฆษณา ณ จุดขาย เพื่อสนับสนุนการขายให้ร้านโชห่วย สร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ สามารถต่อยอด และแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ได้
“หลังจากทดลองทำร้านแห่งแรกที่นครปฐม ตามด้วยขอนแก่น โคราช พบว่าแต่ละร้านที่ลงไปปรับเปลี่ยนมียอดขาย กำไร และลูกค้าเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ช่วยให้ร้านโชห่วยเหล่านั้นอยู่ได้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ชุมชนนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย เพื่อสร้างฅรายได้อีกทาง”
โดยปัจจุบันมีร้านถูกดีฯ อยู่กว่า 1,000 แห่งใน 58 จังหวัด โดยในไตรมาส 3 นี้จะขยายเพิ่มอีกกว่า 1,000 แห่งและในไตรมาส 4 จะขยายเพิ่มอีก 2,000 แห่งต่อเดือน ทำให้ในสิ้นปีนี้จะมีร้านถูกดีฯ ราว 8,000 แห่ง ขณะที่แผนในอีก 2 ปีข้างหน้าตั้งเป้าที่จะมีสาขารวม 3 หมื่นแห่งในปี 2565 และเพิ่มเป็น 5 หมื่นแห่งในปี 2566
“แนวคิดในการบริหารจัดการร้านถูกดีฯ คือ เมื่อมีรายได้เข้ามาต้องแบ่งกำไรกัน โดยร้านค้าจะได้ 85% ส่วนบริษัทได้รับ 15% ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่เพื่อให้ร้านค้าเหล่านี้แข็งแรง และอยู่ได้”
นายเสถียร กล่าวอีกว่า ในปีหน้าบริษัทเตรียมใช้เงินลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในการขยายสาขา 3 หมื่นล้านบาท และการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้า 4.5 หมื่นล้านบาท จำนวน 15 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ 8 แห่งแต่เป็นการเช่า ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น
“โมเดลของซีเจ มอร์จะแตกต่างกับร้านถูกดีฯ เพราะซีเจ มอร์จะเน้นเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ สามารถขยายได้ในระดับอำเภอ ส่วนร้านถูกดีฯ จะเป็นร้านค้าของชุมชนที่บริหารโดยคนในชุมชน จึงสามารถขยายได้ในระดับตำบล หมู่บ้านที่มีขนาด 300 ครัวเรือนร้านก็สามารถดำเนินธุรกิจและอยู่ได้
และอนาคตจะมีการสร้างรายได้จากบริการอื่นๆเข้ามา ไม่ใช่เพียงซื้อมาขายไปเท่านั้น เช่น รายได้จากตู้ATM, ตู้เติมเงิน, เครื่องชั่งน้ำหนัก รวมถึงโฆษณา ณ จุดขายที่จะเกิดขึ้น”
ทั้งนี้แม้ร้านถูกดีฯ จะเป็นการลงทุนส่วนตัวในกลุ่มผู้บริหารคาราบาวแดงโดยมีคุณแอ๊ด คาราบาวและคุณณัญชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ร่วมด้วย แต่เชื่อว่าร้านถูกดีฯจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเชื่อมโยงทำให้ค้าปลีกของบริษัทแข็งแรงยิ่งขึ้น
รวมถึงยังเชื่อมต่อให้สินค้าในเครือคาราบาวแดงเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น เพราะร้านค้าเหล่านี้พร้อมที่จะนำสินค้าทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ เครื่องดื่มวิตามิน รวมถึงสินค้าอื่นๆเข้าไปวางจำหน่ายด้วย
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ยังประสบปัญหาขาดทุนราว 1,500 ล้านบาทจากการเข้าไปลงทุนในร้านถูกดีฯ ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีในปีนี้ยังต้องมีการลงทุนอีกจำนวนมาก ขณะที่คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาราว 1.5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ซี.เจ เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ในปี 2562 มีรายได้รวม 1.38 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้น 649 แห่ง และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,696 วันที่ 15 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564