และได้ประกาศเดินหน้านำพาองค์กรเดินสู่ “ธุรกิจสีเขียว” อย่างเต็มที่
“ชัยวัฒน์” ได้พูดถึงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านตันต่อปี โดยประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 400 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1% จองโลก ในขณะที่บางจาก มีรายได้ประมาณ 1.6 -1.8 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1% ของจีดีพีประเทศไทย บางจากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 0.2% ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประเทศไทยปล่อยออกไป
“แต่เราคิดว่าเราไม่พอ เราปรับตัวเอง ผมเข้ามาปี 2015 ก็มีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ขณะเดียวกันธุรกิจของเราก็ต้องเจริญเติบโต บริษัทมีการขยาย มีการควบรวมกิจการ จะเห็นได้ว่าปี 2018-2019 เราเติบโตก้าวกระโดด 20% แต่ก็มี Emission ที่เพิ่มขึ้นมา”
ผู้นำกลุ่มบางจากท่านนี้ ได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างอย่างชัดเจน โดยบลูมเบิร์ก ได้รายงานถึงพลังงานพื้นฐานบนโลกใบนี้ จากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงจาก Oil and Gas อยู่ที่ประมาณ 42% ปี 2050 การใช้เชื้อเพลิงจาก Oil and Gas จะเหลือแค่ 7-10% เท่านั้น ในขณะที่ไฟฟ้า ถูกใช้เป็นพลังงานพื้นฐานวันนี้ 19% ปี 2050 จะขยับเป็น 49% และเป็นแหล่งพลังงานหลัก เพราะฉะนั้น ธุรกิจ Oil and Gas ต้องเตรียมความพร้อม และนี่คือ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กลุ่มบางจากมีการปรับตัวครั้งใหญ่
“ชัยวัฒน์” ได้กำหนดเป้าหมายของกลุ่มบางจาก ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายสำคัญเป้าหมายแรกคือ คาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ในปี 2030
ธุรกิจต่างๆ ของกลุ่มบางจาก กำลังเดินหน้าสู่เป้าหมาย ทั้งการปรับปรุงคุณภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตต่างๆ ทั้งการรีคัฟเวอร์ รียูส และการผนึกกับพันธมิตร เพื่อเดินไปสู่เป้าของการลดปล่อย Emission ให้ได้ 20% ในปี 2025 และจะได้ 30% ในปี 2030 นี่คือจุดเริ่มต้น
ส่วนที่เหลืออีก 70% เป็นการนำกลไกอื่นๆ เข้ามาช่วย อาทิ การลงทุนในธุรกิจสีเขียว เช่น โรงไฟฟ้าโซล่าและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งบางจากเพิ่งมีการจัดตั้ง Carbon Markets Club ร่วมกับพันธมิตรอีก 11 บริษัท เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรโดยภาคเอกชนกันเอง โดยธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ปล่อย Emission มาก จะนำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการชดเชย และนำเงินส่วนนั้นมาพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดโดยไม่ต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากภาครัฐ เป็นกลไกที่จะมาช่วยปิดช่องว่างในช่วง 5-10 ปีนี้ ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียว หรือพลังงานสะอาด
เป้าหมายที่ชัดเจนของซีอีโอบางจาก คือ ธุรกิจต้องเติบโต ในขณะที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต้องลดลง ดังนั้น เขาจึงพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวขึ้นมาทดแทน Oil and Gas ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ในขณะนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว ธุรกิจชีวภาพ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติต้นน้ำ
นอกจากนี้ กลุ่มบางจาก ยังลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น frontier ธุรกิจที่จะเปลี่ยนโลก เช่น การจับมือกับอังกฤษ ลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจน
บางจาก ยังมีแผนปรับโครงสร้างการผลิต โดย 30% ของโรงกลั่นที่ออกมาจะไม่ใช่น้ำมัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ส่วนของโรงกลั่น โรงไฟฟ้า ก็พยายามเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ควบคู่กัน ผลที่ได้จากการปรับโครงสร้างและกระบวนการผลิต ทำให้ระหว่างปี 2014-2019 บางจาก มี EBITDA เพิ่มขึ้น 50% แต่ Emission เพิ่มขึ้นไม่ถึง 20% และในอีก 7-8 ปีข้างหน้า กลุ่มบางจากจะขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยจะมี EBITDA เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ในขณะที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นศูนย์ในปี 2030
กระบวนการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายต่างๆ “ชัยวัฒน์” บอกว่า มันคือความท้าทายของกลุ่มบางจาก ในขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ก็สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจบางจากเช่นกัน เพราะการบริโภค Oil and Gas หายไปถึง 10% ในปีที่แล้ว โรงกลั่นหลายแห่งปิดตัว ทั้งในสหรัฐ ยุโรป ออสเตรเรีย โควิด-19 เป็นเหมือนตัวเร่ง ที่ทำให้ทุกคนรวมถึงกลุ่มบางจาก ต้องเร่งปรับเปลี่ยน
เรียกว่าไม่ง่ายและท้าทายมาก สำหรับภารกิจของผู้นำ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ที่เพิ่งได้รับการต่อวาระการบริหารงานในตำแหน่งต่ออีก 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ถึง 31 ธ.ค.2569
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564