CMMU เสนอภาคธุรกิจ “ต้มกบ” ปรับตัว ลดต้นทุน รู้ทางถอย เบาได้เบา

09 ต.ค. 2564 | 10:14 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2564 | 17:43 น.

นักวิชาการบริหารธุรกิจ ซีเอ็มเอ็มยู แนะ ภาคธุรกิจต้องวางแผนบริหารจัดการเงิน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาว ผ่านการ ประหยัดต้นทุน การเตรียมทางถอย สำหรับธุรกิจที่ติดลบ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับตนเอง

ดร. ปิยภัสร ธาระวานิช หัวหน้าสาขาการเงิน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจของประเทศไทยปัจจุบันนี้ คล้ายกับปรากฎการณ์ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “ต้มกบ” กล่าวคือ สถานการณ์ค่อยๆ แย่ลงต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ลงแบบทันที ดังนั้น ถ้าไม่รู้ตัว ไม่รีบแก้ปัญหาไว้ก่อน ก็จะเหมือนกับกบที่ถูกต้ม ความร้อนค่อยๆ เพิ่ม กบก็จะไม่รู้สึกตัว ไม่กระโดดออกมา ผลสุดท้ายก็จะสุก ต่างกับกรณีที่สถานการณ์แย่ลงทันที เหมือนน้ำที่ถูกต้มไว้แล้ว กบก็จะรู้ตัว รีบกระโดดออกมา คือ รีบทำการแก้ไขปัญหา 

ดร. ปิยภัสร ธาระวานิช หัวหน้าสาขาการเงิน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU)

สถานการณ์ตอนนี้ก็เช่นกันคือ เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (aged society) ทำให้ขาดแคลนแรงงาน การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาการก็จะเพิ่มขึ้นทีละนิด เหมือนน้ำที่ร้อนขึ้นทีละนิด ถ้าไม่รีบกระโดดออกมาปรับตัว ธุรกิจก็จะประสบแต่ความยากลำบาก ดังนั้นธุรกิจควรถือโอกาสนี้รีบปรับตัว

ถ้าให้พิจารณาภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะดีขึ้น เนื่องจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และเศรษฐกิจโลกฟื้น ซึ่งข้อนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้นย่อมดึงเศรษฐกิจไทยให้ขยับดีขึ้นด้วยผ่านทางธุรกิจการส่งออก

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญเรื่องวางแผนบริหารจัดการเงินเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาว ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยปัจจัยภายนอกด้านเศรษฐกิจที่ควบคุมไม่ได้ จึงแนะให้สนใจปัจจัยภายในที่สามารถทำได้ก่อน ดังนี้

CMMU เสนอภาคธุรกิจ “ต้มกบ” ปรับตัว ลดต้นทุน รู้ทางถอย เบาได้เบา

  1. ประหยัดต้นทุน สำหรับธุรกิจรายเล็กหรือกลุ่ม SMEs สายป่านไม่ยาว อาจได้รับผลกระทบหนักกว่าธุรกิจรายใหญ่ ให้พยายาม รักษาสภาพคล่อง ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายคงที่ (fixed cost) ควรเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้มีสัดส่วนต้นทุนคงที่น้อยลง มีสัดส่วนต้นทุนผันแปร (variable cost) เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีความคล่องตัว (flexibility) ในการดำเนินงาน
  2. เตรียมทางถอย สำหรับธุรกิจที่ติดลบไปแล้ว การปรับธุรกิจลบให้ขึ้นมาเป็นบวกอาจยากนัก เพราะต้องขึ้นอยู่กับโอกาสทางธุรกิจด้วย ดังนั้นจึงควรพยายามลดความเสี่ยงให้กับตนเอง เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ควรเตรียมสต็อกอาหารให้พอเหมาะไม่มากเกินไป เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจมีล็อกดาวน์ สั่งปิดร้านอาหารอีกครั้ง เป็นต้น
  3. ลดความเสี่ยงจากการลงทุน สำหรับธุรกิจที่กำลังวางแผนจะขยายตัว ถ้าชะลอได้ก็อาจพิจารณาชะลอออกไปก่อน เพื่อรอให้สถานการณ์ชัดเจนขึ้น หรือธุรกิจใดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อไม่ได้ การหยุดหรือปิดกิจการลงก็เป็นทางออกที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้