ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1936/2564 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
"การปิดบริษัทประกันภัย ไม่ได้ปิดง่ายๆเนื่องจากต้องดูความเดือดร้อนของประชาชน ในกรณีนี้ถ้าไม่เพิกถอน เงินของบริษัทฯอาจจะจ่ายค่าเคลมหมด และเมื่อมีการเบิกเข้ามาอีก แต่บริษัทปิดตัวแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเคลม ทำให้ต้องสั่งปิด เพื่อให้กองทุนฯเข้ามาช่วยและเอาเงินในกองทุนฯมาช่วยเยียวยา"
สำหรับการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายตั้งแต่ในช่วงแรกๆได้ให้บริษัทฯ หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราวตามมาตรา 52 พนักงานเจ้าหน้าที่ของ คปภ. ที่เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัทฯ เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้กว่า 13,000 ราย เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท
โดยทรัพย์สินของบริษัทฯ ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเคลมที่ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ได้ และบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแล โดยใช้เงินกองทุนฯ เยียวยาผู้เอาประกันภัย ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ดูแลประชาชนให้เต็มที่
ภายหลังจากเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว กองทุนประกันวินาศภัยจะรับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันกับบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน โดยโอนให้กับบริษัทประกันภัยแห่งอื่นรับผิดชอบต่อ นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะขึ้น เพื่อรองรับผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์ความคุ้มครองโควิด-19 ต่อเนื่อง
"ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองดูแล โดย คปภ. จะบูรณาการร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย ช่วยบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ และพร้อมน้อมรับทุกคำชี้แนะในการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน"
ดร. สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่ลูกค้าต้องการจะยกเลิกกรมธรรม์ จะได้รับเบี้ยตามมูลค่าที่เหลืออยู่ แต่ถ้าหากลูกค้าไม่ต้องการรับเบี้ยก็สามารถที่จะนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อกรมธรรม์อื่น(ลด10% แต่ไม่เกิน 500 บาท )หรือเปลี่ยนเป็นกรรมธรรม์โควิด-19 ที่ร่วมกับทิพยประกันภัย
"กองทุนประกันวินาศภัย มีความพร้อมที่จะดูแลประชาชน โดยมีเงินประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท ซึ่งกองทุนได้วางแนวทางแผนงานว่าจะดำเนินการต่อไป ส่วนความพร้อมของสำนักงานคปภ.ในจังหวัดต่างๆ ในขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านการประชาสัมพันธ์ การรับเรื่องร้องเรียน รับเรื่องการขอรับชำระหนี้จากกองทุน"