วันนี้(20ตุลาคม2564)นางสาวชนาลัย ฉายากุล เลขานุการบริษัท บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ทอท.หรือ AOT เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ครั้งที่ 13/2564 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ ทอท.กู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารออมสิน วงเงินรวมไม่เกิน 25,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป และ/หรือเพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามที่ ทอท.เห็นสมควร
ทั้งนี้การกู้ยืมเงินกับธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจควบคุมเช่นเดียวกันกับ ทอท. ถือเป็นการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ประเภทสนับสนุนธุรกิจปกติที่มีเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไปและค่าตอบแทนสามารถคำนวณได้จากทรัพย์สินหรือมูลค่าอ้างอิง ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 21/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ประกอบกับประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ.2546ดังนั้นจึงไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องคำนวณขนาดรายการ
แต่ต้องเปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เนื่องจากถือเป็นการกู้ยืมเงินที่มีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศ และการปฏิบัติการใด ๆของบริษัทจดทะเบียน พ.ศ.2560 ข้อ 4 (14)
นอกจากนี้ ทอท.ยังได้รายงานการปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ระหว่างปีงบประมาณ 2565 - 2567 จากการประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับเดือนตุลาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ทอท.คาดว่าในปีงบประมาณ 2565 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 483,695 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 62.13 ล้านคน ปีงบประมาณ 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 768,658 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 116.13 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 925, 197 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 143.05 ล้านคน
ทั้งนี้ในกรณีที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศข้างต้น โดยอยู่บนสมมติฐานในกรณีที่สถานการณ์ดีที่สุด (Best Case) กล่าวคือ กรณีที่มีการฉีดวัคซีนได้ ทั่วโลกตามเป้าหมายและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก รวมทั้งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ทั่โลก ทำให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการเดินทางมากขึ้น ประกอบกับสายการบินปรับตัวได้เร็ว ส่งผลให้ทั้งเที่ยวบินและผู้โดยสารสามารถฟื้นตัวได้เร็ว คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับปกติเช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2562 (ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2567
แต่ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้(Worst Case) กล่าวคือ กรณีที่เกิดการกลายพันธุ์ของโรค ทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับ การฉีดวัคซีนทำให้ผู้โดยสารยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการเดินทาง ประกอบกับสายการบินปรับตัวได้ช้า และได้รับผลกระทบ จากขีดความสามารถการให้บริการที่ลดลงในระดับสูง - ปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศฟื้นตัวได้ช้ากว่าปกติ คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะไม่สามารถกลับสู่ระดับปกติเช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2562ได้ภายในปีงบประมาณ 2567
2. การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารปีงบประมาณ 2565 ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ตามข้อ 1 ลดลงจากฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 1 1.04 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 26.28 ล้านคน ลดลง 3.06 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 35.85 ล้านคน ลดลง 7.98 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งใหญ๋ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา โดยผลการคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร