นายพรต ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการสำนักปฏิบัติการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ซีคอนสแควร์ให้ความสำคัญกับ Renewable Energy โดยใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาทติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” เฟสแรกบนดาดฟ้าศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในเซาท์อีสเอเชีย และใช้อินเวอร์เตอร์หรือ ระบบ N-Type ซึ่งคิดว่าเป็นระบบแปลงไฟฟ้า ที่ดีที่สุดในประเทศไทยที่มีอยู่ตอนนี้
การติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” ของซีคอนสแควร์เป็นโปรที่ยาก โดยเฉพาะการออกการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 14,500 แผง บนพื้นที่ 31,000 ตารางเมตร เนื่องจากสภาพดาดฟ้าของศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์เป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ลาด พื้นที่สูง-ต่ำ พื้นที่โค้งและเป็นลานจอดรถ เพราะฉะนั้นในการดีไซน์การวางแผงโซล่าเซลล์จึงยากมากเพราะมีทั้งการติดตั้งแนวโค้ง แนวตั้ง แนวนอนและเอียง
“ธุรกิจของซีคอนสแควร์คือศูนย์การค้า ไม่ใช่ธุรกิจธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในช่วงแรกจึงเป็นการลงทุนพื้นที่และให้บริษัทเอกชนเป็นตัวกลางนำเข้า ติดตั้งโดยซีคอนสแควร์ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว ในระยะเวลาสัญญา 30 ปี ระหว่างทางผลิตได้เท่าไหร่เรารับซื้อหมดในราคาที่ถูกกว่าการไฟฟ้านครหลวงขายให้กับเรา
หลังจากคำนวณระยะเวลา 30 ปีซีคอนสแควร์จะประหยัดเงินไปได้ 380 ล้านบาท แต่หลังจากเปิดใช้งานระยะแรก 3 เดือน โซลาร์รูฟท็อปช่วยให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก บอร์ดจึงอนุมัติให้ใช้เงิน 200 ล้านบาทซื้อทั้งโครงการเพราะคืนทุนเร็วกว่า”
ปัจจุบัน “โซลาร์รูฟท็อป” สามารถผลิตไฟฟ้าและนำไปในศูนย์การค้าได้ 1 ใน 4 จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 33 ล้านบาทจากค่าไฟฟ้าทั้งปีประมาณ 190 ล้านบาท โดยในช่วงที่การผลิตไฟฟ้าทำได้ต่ำ ทางห้างจะใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแทนซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างโซล่าเซลล์และการไฟฟ้าจะไม่มีการขัดจังหวะกันเพราะมีการซิงโครไนซ์แบบออโตเมตริก
โดยส่วนที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดศูนย์การค้าคือ chiller ของเครื่องปรับอากาศคิดเป็น 30% ของการใช้ไฟทั้งหมด โดยส่วนนี้จะใช้ไฟจากการไฟฟ้า100% ส่วนที่เหลือในศูนย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง บันไดเลื่อน ลิฟต์ พัดลมดูดอากาศ จะมาจากโซล่าร์เซลล์ทั้งหมดก่อน เพราะหากchiller พ่วงกับโซล่าเซลล์ถ้าไฟไม่พอเครื่องปรับอากาศอาจจะดับได้และในการ restart ใช้เวลาหลายชั่วโมงรวมทั้งตัวchiller เองก็อาจจะพังด้วย
ปัจจุบันระบบ workstation ของระบบการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ของซีคอนสแควร์ สามารถผลิตไฟได้สูงสุด 5MW ซึ่งในแต่ละวันปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มแสงอาทิตย์ ช่วงที่ดีที่สุดในการผลิตไฟฟ้า คือ 10:00 -15:00 น. ซึ่งอาจผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 3000-4000พันหน่วยต่อชั่วโมง
นอกจากการแผงโซล่าเซลล์แล้วซีคอนสแควร์ยังมีห้องควบคุมระบบที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ ซึ่งสามารถ monitor real time และแจ้งสถานะแผงโซล่าเซลล์แต่ละแผงว่าสามารถทำงานได้หรือไม่ซึ่งช่วยให้วิศวกรสามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันที
นอกจากนี้บริษัทได้เริ่มดำเนินการโครงการ “โซลาร์รูฟท็อป” บนศูนย์สรรพสินค้าซีคอน บางแค ด้วยงบประมาณอีก 150 ล้านบาท ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กว่า 7,000 แผงบนพื้นที่เท่ากับ 20,000 ตารางเมตร โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้
“พลังงานแสงอาทิตย์ เป็น Renewable Energy ซึ่งไม่ทำให้เกิดคาร์บอนช่วยลดโลกร้อนและเป็น Free Energy ในอนาคตไม่ใช่เฉพาะโรงงาน หรือศูนย์การค้าเท่านั้นที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่จะขยายไปยัง โรงพยาบาล โรงเรียน จนถึงบ้านพักทุกแห่งภายใน 10 ปี นอกจากการใช้งานในครัวเรือนแล้ว พลังงานไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานสามารถ ขายคืนให้กับรัฐบาล
เพราะปัญหาของประเทศไทย คืออยากใช้ไฟฟ้าแต่ไม่อยากให้โรงงานมาตั้งใกล้ๆบ้าน เพราะเป็นห่วงในเรื่องของมลพิษ free energy ที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตได้มาจากโซลาร์เซลล์เท่านั้นเพราะประเทศไทยไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม หรือไฟฟ้าพลังงานน้ำเหมือนลาวหรือพม่าได้เพราะเราไม่ได้มีปริมาณน้ำจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นโซล่าเซลล์นี่แหละคืออนาคตของประเทศเรา เพราะมันคุ้มในระยะยาวและช่วยเซฟโลกนี่เป็นเทรนด์ในอนาคต”
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,729 วันที่ 7 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564