การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงเดือนเม.ย.- ก.ย. ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนต่างร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างเต็มที่ รวมถึงโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ (PRINC) ทั่วประเทศ ที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำหน่ายวัคซีนทางเลือก การจัดทำโรงพยาบาลสนาม Hospitels และ Home Isolation ส่งผลให้บริการทางการแพทย์เติบโตแบบก้าวกระโดด
นายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจสุขภาพ ในนามเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในงวดไตรมาส 3 ของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 290.7 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 141.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 305.5 % นับเป็นการทำกำไรสุทธิเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการธุรกิจโรงพยาบาล และเร็วกว่าคาดการณ์เดิมว่าจะเริ่มมีกำไรสุทธิได้ในปี 2565
ปัจจัยหลักหนุนให้ผลประกอบการพลิกมีกำไรสุทธิได้เร็วกว่าคาดการณ์ รับผลพวงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงเมษายน- กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ (PRINC) ทั่วประเทศมีร่วมกับรัฐบาลในการรักษาและดูแลผู้ป่วยจากโควิด-19 รวมถึงทำหน้าที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วไป การจำหน่ายวัคซีนทางเลือก การจัดทำโรงพยาบาลสนาม Hospitels และ Home Isolation เป็นต้น
สำหรับรายได้ในส่วนธุรกิจโรงพยาบาล พบว่าเติบโตจากธุรกรรมที่เกิดจากโควิด-19 และไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19(non covid-19) โรงพยาบาลในเครือทุกแห่งมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โดยพบว่ายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Princ Health เพิ่มขึ้น 70-80% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากผู้ใช้ได้รับความสะดวกในการรายงานผลทางห้องปฏิบัติการ การใช้ Telemedicine และการทำกิจกรรมสื่อสารทางการตลาดควบคู่ด้วย
ขณะที่งวดไตรมาส 3 ของปีนี้ มีรายได้รวม 1,677.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,028.5 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 641.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 158.4% และงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้รวม 3,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,882.8 ล้านบาท
คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รายได้ของโรงพยาบาลน่าจะยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์โควิดในประเทศและการเข้าถึงวัคชีนของประชาชนที่เริ่มส่งสัญญาณบวก ทำให้ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยลง ซึ่งอาจทำให้รายได้จากคนไข้กลุ่มโควิด-19 มีแนวโน้มปรับลดลงตามสถานการณ์การติดเชื้อที่มีการควบคุมและดีขึ้น
อย่างไรก็ดี การคลายล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะการเปิดประเทศเพื่อรองรับกับกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งเรียกความเชื่อมั่นและการกลับมาของกลุ่มคนไข้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโควิด-19 กลับมาใช้บริการได้ตามปกติ โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ชาวไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป กลุ่มพนักงานบริษัทที่รับการตรวจสุขภาพประจำปี และยังมีคนไข้บางส่วนที่อาจปรับพฤติกรรมหันไปใช้บริการรักษาพยาบาลผ่าน Health tech เช่น Tele-medicine ฯลฯ
บริษัทคาดว่ามีโอกาสสูงจะทำให้รายได้ในปี 2564 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,500 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในไตรมาส 4 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 และบริษัทเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือกและสามารถรับรู้เป็นรายได้ นอกจากนี้การประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา และกำหนดให้ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเดินทางมาจากต่างประเทศ และต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และพักดูอาการอย่างน้อย 1 คืนในรูปแบบ Test and go
รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ซึ่งมีทำเลใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ทำข้อตกลงเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญากับโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ท (Novotel Bangkok Suvarnabhumi Airport) ให้บริการ AQ Hotel (Alternative Quarantine Hotel) ซึ่งมีจำนวนลูกเรือและพนักงานของสายการบินชั้นนำของโลกเข้าพักเพื่อรอสับเปลี่ยนเที่ยวบิน และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในรูปแบบ Test and go ร่วมมือกับโรงแรมชั้นนำหลายแห่ง
ได้แก่ โรงแรม Marriott Executive Apartment, Sathorn Vista, โรงแรม Somerset Ekamai, โรงแรม Theorie Sukhumvit 107 ฯลฯ ให้บริการการตรวจโควิด-19 แก่นักเที่ยวต่างชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากเปิดประเทศ (ข้อมูล ณ 12 พ.ย. 64) และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามทิศทางของการเติบโตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไตรมาส 4 นี้